ลักษณะของนักวิจัยที่ดี เป็นอย่างไร?

เคยสงสัยไหมว่าลักษณะของนักวิจัยที่ดี เป็นอย่างไร?  ผู้ที่จะมีการทำงานวิจัยให้มีประสิทธิผลและประสิทธิภาพต้องมีสมรรถภาพในองค์ประกอบหลายๆ ด้าน โดยต้องอาศัยทั้งศาสตร์และศิลปะที่ต้องฝึกปฏิบัติจนเป็นนิสัย ดังต่อไปนี้

1.      ด้านคุณลักษณะส่วนบุคคล มีองค์ประกอบดังนี้

1.1     มีความอดทน ในการทำวิจัยต้องใช้ความอดทนทุกขั้นตอนของการทำวิจัย

1.2     มีความสุภาพ ในการทำงานวิจัยที่เป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรการศึกษาระดับปริญญาโทมีทั้งอาจารย์ที่เป็นประธานที่ปรึกษา กรรมการท่านอื่นๆอีกหลายท่าน นักวิจัยต้องมีความสุภาพ อ่อนน้อม และรับฟังคำแนะนำด้วยความตั้งใจ

1.3     มีมนุษย์สัมพันธ์ มนุษย์สัมพันธ์เป็นสิ่งที่มีความจำเป็นในการทำงานวิจัย เพราะการทำวิจัยต้องติดต่อผู้ที่ทำหน้าที่บริการหรือให้ข้อมูลกับงานวิจัย 

1.4     มีความขยันหมั่นเพียร การทำงานวิจัยถ้าไม่มีความขยันหมั่นเพียร งานวิจัยจะไม่ประสบความสำเร็จ งานวิจัยต้องทำอย่างต่อเนื่อง เพราะในแต่ละขั้นตอนมีการดำเนินการแตกต่างกัน 

1.5     มีการวางแผน การวางแผนมีความสำคัญต่อการทำงานของทุกคน งานวิจัยมีระเบียบวิธีและกระบวนการทำงานหลายขั้นตอน ถ้ามีการกำหนดและวางแผนอย่างเป็นขั้นตอน โดยกำหนดกิจกรรมในแต่ละขั้นตอน กำหนดระยะเวลาที่ทำสำเร็จ กำหนดวัน เดือน ปี ตลอดจน มีการบันทึกการทำงานในแต่ละวัน

1.6     มีความซื่อสัตย์ การทำวิจัยต้องมีความซื่อสัตย์ ไม่ควรลอกเลียนผลงานวิจัยจากงานวิจัยผู้อื่น ในหลักสูตรระดับปริญญาโท/เอกก่อนเริ่มเก็บรวบรวมข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างนักวิจัยต้องนำเสนอข้อเสนอโครงการวิจัยให้แก่กรรมการจริยธรรมการวิจัยได้พิจารณาก่อน

1.7     มีแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ การที่นักวิจัยไม่มีแรงจูงใจในการทำวิจัย ไม่มีความตั้งใจมุ่งมั่นที่จะทำงานวิจัยในเรื่องนั้นๆ แสดงว่าเป็นงานวิจัยที่นักวิจัยไม่มีความสนใจ ไม่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องที่ทำ ดังนั้นเรื่องที่ทำวิจัยควรเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างแรงจูงใจ

1.8     มีสภาพร่างกายที่แข็งแรง ความสมบูรณ์แข็งแรง ไม่เจ็บป่วย ทำให้ตัวนักวิจัยเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการดำเนินการทำวิจัยได้สำเร็จ เพราะงานวิจัยจะดำเนินการได้ต้องอาศัยการวางแผนทุกขั้นตอนที่ขึ้นอยู่กับนักวิจัยทั้งหมด

1.9     มีจิตใจเข้มแข็งไม่อ่อนแอ ในแต่ละขั้นตอนนักวิจัยต้องมีจิตใจที่มั่นคง เพราะต้องผ่านขั้นตอนที่เป็นการทดสอบความมีสติ ทดสอบความรู้สึก เช่น เมื่อถึงขั้นตอนการเสนอโครงการวิจัยทั้งที่เป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรการศึกษาและขอทุนต่อคณะกรรมการ นักวิจัยต้องมีการปรับปรุง เปลี่ยนแปลงวิธีการวิจัยของนักวิจัยที่ได้พิจารณาแล้วว่าสมบูรณ์ตามความคิดของตนเอง แต่เมื่อคณะกรรมการให้ข้อเสนอแนะ นักวิจัยสมควรทำตามด้วยความเต็มใจ

2.      ด้านความรู้ มีองค์ประกอบดังนี้

2.1    มีความรู้ทางการใช้คอมพิวเตอร์ การมีความรู้ความเข้าใจในการใช้คอมพิวเตอร์และ การใช้โปรแกรม power point และการเข้าอบรมการโปรแกรม SPSS for window สำหรับการทำงานวิจัย

2.2     มีความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับสถิติ ความรู้ทางสถิติกับการวิจัยมีความสัมพันธ์กันอย่างมาก นักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญด้านการทำวิจัยจะมีความรู้ทางสถิติเป็นอย่างดี ในงานวิจัยที่ไม่ต้องใช้สถิติขั้นสูง ความรู้การวิเคราะห์ข้อมูลอาจใช้สถิติ เช่น ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าที การหาความสัมพันธ์ การวิเคราะห์การถดถอย เป็นต้น

2.3    มีความรู้เกี่ยวกับการวิจัย/การออกแบบแผนการวิจัย การทำวิจัยทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ การทำวิจัยให้มีคุณภาพและมีคุณค่า นักวิจัยต้องมีความรู้พื้นฐานทางการวิจัย      การออกแบบแผนการวิจัยทั้งเชิงปริมาณ เชิงคุณภาพ หรือแบบแผนการวิจัยแบบผสานวิธี เช่น กรอบแนวคิดของตัวแปรต้นและตัวแปรตามเป็นตัวแปรประเภทใด จะใช้สถิติอะไรมาใช้ใน การวิเคราะห์ข้อมูลให้สอดคล้องตามตัวแปรต้นและตัวแปรตาม ดังนั้นนักวิจัยต้อง “รู้ลึกและรู้กว้าง”

2.4     มีความรู้ในกระบวนการวิจัยทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ กระบวนการวิจัยทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ  มีวงจรการทำวิจัยเหมือนกัน คือ เริ่มต้นตั้งแต่การกำหนดชื่อเรื่องหรือปัญหาการวิจัย การเขียนทบทวนวรรณกรรม การเขียนข้อเสนอโครงการวิจัย การออกแบบ  การวิจัย แต่มีความแตกต่างกันที่วิธีการดำเนินการวิจัย  

3.      ด้านความสามารถ มีองค์ประกอบดังนี้

3.1     การคิดวิเคราะห์/สังเคราะห์และการนำเสนอข้อมูล การทำวิจัยต้องอาศัย การคิดวิเคราะห์/สังเคราะห์และการนำเสนอข้อมูล  เช่น ในการสำรวจหรือระบุปัญหาเพื่อตั้งชื่อเรื่องการวิจัย และการเขียนความเป็นมาและความสำคัญของปัญหาซึ่งเป็นขั้นตอนการทำวิจัยที่นักวิจัยต้องใช้การคิดวิเคราะห์หัวข้อให้เรียงลำดับจากมุมมองภาพรวมจนถึงมุมมองภาพย่อย และรวบรวมข้อมูลที่เตรียมไว้มาสังเคราะห์เป็นการนำเสนอข้อมูลเป็นร้อยแก้วในแต่ละย่อหน้า 

3.2      การใช้โปรแกรมสำเร็จรูปทางสถิติในการวิเคราะห์ข้อมูล หากนักวิจัยไม่สามารถวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูปทางสถิติด้วยตนเอง ปัญหาที่ตามมาคือไม่สามารถอ่านผลการวิเคราะห์ข้อมูลและการอภิปรายผลการวิจัยได้ ทำให้นักวิจัยต้องเสียงบประมาณในการวิเคราะห์ข้อมูลให้กับผู้อื่นที่วิเคราะห์ข้อมูลให้ ในหลักสูตรการเรียนของสถาบันการศึกษาบางแห่งไม่มีรายวิชาบังคับให้เรียน นักวิจัยต้องศึกษาด้วยตนเองโดยการเข้ารับการอบรมในสถาบันอื่นๆ  ที่สำคัญโปรแกรมสำเร็จรูปทางสถิติที่ควรเข้ารับการอบรม ได้แก่ SPSS for windows, Advanced  Statistic  เป็นต้น

3.3      การอภิปรายผลและลงข้อสรุป การลงข้อสรุปหรือผลการวิจัยในการทำวิจัยนั้น จะอยู่ในบทที่ 5 นักวิจัยต้องนำเสนอให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์การวิจัยในบทที่ 1 และการนำเสนอข้อมูลในบทที่ 4 ส่วนการอภิปรายผลนั้นมีความสอดคล้องกับการลงข้อสรุปหรือผลการวิจัย แต่มีความแตกต่างในกรณีที่มีส่วนที่ต้องมีแนวคิด/ทฤษฎีและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องเป็น ข้ออธิบาย สนับสนุนอย่างมีเหตุและมีผลต่อผลการวิจัยนั้น

3.4     การใช้ภาษาไทย/อังกฤษ การเขียนรายงานการวิจัยต้องใช้ภาษาที่กะทัดรัดกระชับ รัดกุม ไม่คลุมเครือ และถูกต้องตามหลักการเขียนในทุกส่วนของรายงานการวิจัย เช่น  การใช้ภาษาไทยและภาษาอังกฤษในการเขียนส่วนของบทคัดย่อ รวมทั้งการวิเคราะห์ข้อมูลโดย  การใช้โปรแกรมสำเร็จรูปทางสถิติ ภาษา/คำศัพท์เป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด  ดังนั้นนักวิจัยต้องสั่งสมประสบการณ์การใช้ภาษาจากการอบรม จากการไต่ถามผู้รู้ จากการอ่านด้วยตนเอง จากการศึกษาจากตำรา  และจากอาจารย์ที่ปรึกษา เป็นต้น

3.5     การค้นคว้าเอกสารที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยจากแหล่งข้อมูล แหล่งข้อมูลที่มีความสำคัญสำหรับนักวิจัย ได้แก่ ห้องสมุดของสถาบันต่างๆ ที่มีการเชื่อมโยงการใช้ข้อมูลร่วมกัน  และอินเตอร์เน็ต นักวิจัยต้องมีความสามารถในการใช้อินเตอร์เน็ตเพื่อค้นคว้าบทคัดย่องานวิจัยต่างประเทศและสถาบันอื่นๆ ที่สำคัญนักวิจัยต้องเข้าใจในการทบทวนเอกสารภาษาไทยก่อน การค้นคว้าเอกสารของต่างประเทศเพราะต้องใช้คำศัพท์ที่เป็นภาษาอังกฤษ
Credit: http://mea.pbru.ac.th/