prothesis2000

3เคล็ดลับการเข้าพบอาจารย์ที่ปรึกษางานวิจัย

การทำวิจัยคือการศึกษาเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างมีแบบแผนชัดเจน ไม่ว่าจะเป็น project สำหรับระดับ ม.ปลาย/ป.ตรี/ป.โท หรือ ป.เอก เราก็ต้องมีการวางแผนก่อนที่จะศึกษาทุกครั้ง เพื่อให้เวลาลงมือทำจะได้ไม่มีปัญหาหรืออุปสรรคเกิดขึ้นระหว่างการทำวิจัย
แต่บางครั้งการทำวิจัยก็ไม่ได้เป็นไปตามที่เราคาดไว้ซะทุกอย่าง อาจมีปัญหาหรืออุปสรรคเกิดขึ้นบ้าง เพื่อทดสอบความสามารถของเรา บางครั้งอาจเกินกำลังความรู้ความสามารถของนักเรียนที่จะแก้ปัญหาบางอย่างได้ เราจึงต้องมีอาจารย์ที่ปรึกษาเพื่อคอยให้คำแนะนำในระหว่างที่เรากำลังทำงานวิจัยชิ้นนั้นอยู่


เพื่อให้การเข้าพบอาจารย์ที่ปรึกษาของน้องๆแต่ละครั้งได้ประโยชน์สูงสุด เราจึงมีเคล็ดลับไว้ใช้เวลามีนัดคุยงานกับอาจารย์ที่ปรึกษามาฝากดังนี้ค่ะ
.

  1. ก่อนเข้าพบอาจารย์ที่ปรึกษา
    .
    ควรวางแผนก่อนว่าเรามีคำถามอะไรบ้างที่อยากจะถามอาจารย์ เขียนออกมาเป็นข้อๆ จากนั้นให้ลำดับความสำคัญของคำถามเหล่านั้น โดยเริ่มจากคำถามสำคัญเร่งด่วนที่เราต้องการขอคำปรึกษาจากอาจารย์ก่อน เพราะถ้าเผื่ออาจารย์มีงานด่วนกระทันหันที่ทำให้ไม่สามารถคุยกับเราได้นาน อย่างน้อยเราก็จะได้รับคำแนะนำในคำถามสำคัญที่เร่งด่วนก่อน แล้วถ้ามีเวลาเหลือจึงค่อยถามคำถามอื่นต่อได้
    นอกจากนี้หากเรามีคำถามที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลบางอย่าง เช่น ทำการทดลองแล้วอยากให้อาจารย์ช่วยดูผลเพื่อขอคำปรึกษาเพิ่มเติม แนะนำว่าให้เราทำตารางหรือกราฟสรุปผลนั้นออกมาใส่ลงสไลด์แล้วส่งอีเมลให้อาจารย์ล่วงหน้าก่อนก็ดีค่ะ การส่งเรื่องหรือผลที่เราต้องการขอคำปรึกษาให้อาจารย์ดูล่วงหน้า จะช่วยให้อาจารย์มีเวลาเตรียมคำแนะนำ/คำอธิบาย หรือเอกสารที่จะให้ลูกศิษย์ไปอ่านเพิ่มเติมเพื่อช่วยให้เราทำความเข้าใจดีขึ้นได้
    .
  2. ระหว่างเข้าพบกับอาจารย์ที่ปรึกษา
    .
    ในวันที่มีนัดพบอาจารย์ที่ปรึกษาให้เราเตรียมของให้พร้อม ทั้งเอกสาร/ไฟล์ต่างๆที่จะเอามาให้อาจารย์ดู และที่สำคัญอย่าลืมเอาสมุดจดบันทึกกับปากกาไปด้วยทุกครั้ง เพื่อเอาไว้จดประเด็นสำคัญหรือสิ่งที่ต้องทำต่อในระหว่างที่พูดคุยกับอาจารย์อยู่ แนะนำว่าเวลาทำวิจัยให้เรามีสมุดแลปไว้เล่มนึงเพื่อจดบันทึกรายละเอียดกิจกรรมต่างๆที่เราทำเกี่ยวกับงานวิจัยของเราไว้ รวมถึงเอาไว้จดบันทึกเวลาที่เรามีประชุมกับอาจารย์ด้วยก็ได้
    ในการเริ่มบทสนทนากับอาจารย์ ถ้าอาจารย์ไม่ติดธุระอะไรที่ต้องรีบ แนะนำว่าให้เริ่มด้วยการกล่าวทบทวนก่อนว่าจากการประชุมครั้งที่แล้วเราสรุปว่าจะทำอะไรบ้าง จากนั้นจึงค่อยรายงานผลความคืบหน้าว่าเราทำอะไรลงไปแล้วบ้าง แล้วจึงค่อยพูดถึงปัญหาหรือคำถามที่เราอยากจะขอคำปรึกษาจากอาจารย์
    ถ้าในระหว่างที่ปรึกษาหารือกันอยู่แล้วมีตรงไหนที่อาจารย์อธิบายแล้วเรายังไม่เข้าใจ ให้เรากล้าที่จะถามอาจารย์ซ้ำเพื่อขอให้อาจารย์อธิบายเพิ่มเติมจนแน่ใจว่าเราเข้าใจจริงๆ อย่าอายที่จะถามถ้าเรายังไม่เข้าใจ เพราะอาจส่งผลให้เราทำงานต่อไปแบบผิดๆแล้วสุดท้ายต้องมาเสียเวลาแก้ไขใหม่ทีหลัง
    ก่อนจบบทสนททนากับอาจารย์ อย่าลืมสรุปกับอาจารย์อีกทีว่าเราควรทำอะไรต่อไปบ้าง เพื่อทบทวนความเข้าใจของเราว่าถูกต้องตรงกับที่อาจารย์แนะนำมาหรือไม่
    .
  3. หลังเข้าพบอาจารย์ที่ปรึกษา
    .
    หลังจากเข้าพบอาจารย์เสร็จ ก่อนที่เราจะลืมว่าอาจารย์บอกอะไรเราบ้าง แนะนำว่าให้เราหาเวลาหลังจากเข้าพบอาจารย์แค่ไม่เกินห้านาทีเพื่อทบทวนและเรียบเรียงสรุปสาระสำคัญที่ได้จากการพูดคุยกับอาจารย์ทุกครั้งแล้วบันทึกเก็บไว้ เพราะบางครั้งในระหว่างที่คุยกับอาจารย์ เราอาจลืมจดใจความบางอย่างที่สำคัญไปบ้าง ดังนั้นหลังเข้าพบอาจารย์เสร็จจึงควรหาเวลาเพื่อทบทวนและจดบันทึกเพิ่มเติมในส่วนที่เราอาจขาดตกไปว่าเราได้อะไรจากการประชุมครั้งนี้บ้าง และมีสิ่งใดที่เราต้องทำเพิ่มเติมอีกบ้าง
    ข้อดีอีกอย่างของการจดบันทึกสรุปนี้ คือเป็นหลักฐานที่เราสามารถเอาไว้ใช้ยืนยันกับอาจารย์ว่าเราตกลงกันว่าจะทำอะไรต่อจากการประชุมครั้งก่อนได้ เพราะอาจารย์เองก็เป็นคนธรรมดาที่อาจมีลืมบ้าง เราในฐานะลูกศิษย์เมื่อมาขอคำปรึกษาจากอาจารย์ ถ้าเราคอยจดบันทึกสาระสำคัญจากการประชุมเอาไว้ทุกครั้ง ก็ถือว่าเป็นการช่วยกันทำงานเพื่อให้งานวิจัยดำเนินไปอย่างราบรื่นได้

เคล็ดลับงานวิจัย

allabotthesis