prothesis2000

108 การสื่อสารกับอาจารย์ที่ปรึกษา

108 การสื่อสารกับอาจารย์ที่ปรึกษา
การทำงานวิจัยแต่ละครั้งนักศึกษาที่เป็นผู้วิจัยมือใหม่อาจจะมีความคิดเห็นที่ไม่ตรงกับอาจารย์ที่ปรึกษา และควรจะทำอย่างไรเพื่อให้พูดคุยกับอาจารย์ที่ปรึกษาได้อย่างเข้าใจตรงกันและมีความเห็นสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน ในบทความนี้มีคำตอบ

  1. ต้องคิดเสมอว่าไม่มีใครเก่งมาตั้งแต่เกิด
    สิ่งที่ควรเริ่มทำเป็นอย่างแรกในการทำงานวิจัยคือ การศึกษาระเบียบวิธีการทำวิจัยต่างของสถาบันการศึกษาที่เราทำการศึกษาอยู่ เพื่อให้ทราบขอบเขตของการทำวิจัยว่าเป็นอย่างไร และจัดเตรียมเนื้อหาข้อมูลต่างๆ สำหรับเข้าพบอาจารย์ที่ปรึกษาวิจัย เพื่อขอคำแนะนำในขอบเขตงาน หรือขอคำแนะนำในประเด็นที่ผู้วิจัยอาจจะยังเข้าใจไม่ชัดเจนเพียงพอ

ในการขอความรู้หรือประสบการณ์จากอาจารย์ที่ปรึกษานั้น ผู้วิจัยไม่ควรที่จะนำอคติหรือทัศนคติของตนเองมาเป็นที่ตั้ง เพื่อที่จะโต้เถียงหรือยืนยันว่าความคิดของตนเองนั้นถูกต้อง เพราะนั่นอาจจะทำให้ท่านไม่ได้รับความรู้จากอาจารย์ที่ปรึกษาในการพัฒนาองค์ความรู้ของตนเองให้ดียิ่งขึ้น

  1. ต้องเชื่อมั่นในตัวอาจารย์ปรึกษาวิจัยเพราะท่านมีประสบการณ์มากกว่า
    อาจารย์ที่ปรึกษาแต่ละท่านกว่าจะมาเป็นอาจารย์สอนในมหาวิทยาลัยได้นั้น จำเป็นต้องมีประสบการณ์มาอย่างยาวนาน และมีประสบการณ์มากกว่าตัวท่านที่ทำงานวิจัยเป็นเล่มแรกอย่างแน่นอน

ดังนั้นท่านควรทำความเข้าใจว่าอาจารย์ที่ปรึกษาแต่ละท่านนั้นมีคุณสมบัติทั้งคุณวุฒิและวัยวุฒิเพียงพอที่จะให้คำแนะนำแก่ท่าน เพื่อให้ท่านนั้นนำไปประยุกต์ใช้ในการทำวิจัยของท่านให้ดียิ่งขึ้น
ซึ่งสิ่งที่จำเป็นต้องพัฒนาเป็นอย่างแรกคือตัวของท่านเอง เพราะงานวิจัยจะออกมาดีมากแค่ไหน อย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับคุณภาพของการพัฒนาตนเองของท่าน เนื่องจากการทำงานวิจัยแต่ละครั้ง จะเป็นสิ่งที่พัฒนาองค์ความรู้ที่อยู่ในตัวของท่าน ให้นำไปพัฒนาต่อยอดและบูรณาการความรู้ของสาขาวิชาที่ท่านทำการศึกษาวิจัย และเป็นการพัฒนาตนเองด้วยเช่นกัน

  1. ควรปรึกษากับที่อาจารย์ปรึกษา 2 คนขึ้นไป
    ในการทำวิจัยแต่ละครั้งนั้นไม่จำเป็นต้องมีที่ปรึกษาวิจัยเพียงท่านเดียว เนื่องจากอาจารย์ที่ปรึกษาบางท่านนั้นอาจจะมีความคิดเห็นที่ไม่สอดคล้องกับผู้วิจัย และท่านไม่จำเป็นที่จะต้องเอาความคิดเห็นของตนเองเป็นที่ตั้ง เพื่อโต้เถียงกับอาจารย์ที่ปรึกษาจนอาจจะก่อให้เกิดความผิดใจกันระหว่างอาจารย์ที่ปรึกษากับผู้วิจัยได้

การแก้ไขปัญหาดังกล่าวนี้สามารถทำได้โดยให้ท่านปรึกษากับอาจารย์ในภาควิชาหรือสาขาวิชาเดียวกันอีกท่านเพื่อหาที่ปรึกษาวิจัยอีกท่านหนึ่ง ที่มีความคิดเห็นที่สอดคล้องกับความคิดเห็นของท่าน และนำคำพูดของที่ปรึกษาท่านดังกล่าว มาทำให้คำพูดของท่านนั้นมีน้ำหนักมากขึ้นเพื่อให้อาจารย์ที่ปรึกษาหลักของท่านเข้าใจ ว่าคำแนะนำของท่านนั้นอาจจะมีสิ่งที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง หรือมีความคิดเห็นที่สามารถตีความได้หลายแบบ
โดยมากแล้วอาจารย์ที่ปรึกษาหลักมักจะยึดความคิดเห็นของตนเองเป็นที่ตั้ง เพราะว่าท่านมีความเชี่ยวชาญในการทำวิจัยเกี่ยวเรื่องนั้นๆ และอาจจะยึดแนวทางการทำวิจัยดังกล่าวว่าสิ่งนั้นถูกต้อง
แต่ท่านที่เป็นผู้วิจัยนั้นอาจจะทราบข้อมูลมาอีกแบบหนึ่ง จึงเกิดความคิดเห็นที่ไม่สอดคล้องกับสิ่งที่อาจารย์แนะนำ วิธีการแก้ไขที่ดีที่สุดนั้นคือการประนีประนอม โดยนำคำแนะนำจากอาจารย์อีกท่านมาเพิ่มน้ำหนักในความเห็นของท่าน ก็จะทำให้สถานการณ์นั้นดีขึ้นจนสามารถทำงานวิจัยให้สำเร็จลุล่วงไปได้
จากสิ่งที่กล่าวไปทั้งหมดนี้ ส่วนใหญ่แล้วเป็นวิธีการแก้ไขที่สามารถทำให้งานวิจัยสำเร็จลุล่วงไปได้โดยดี หากท่านสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับงานวิจัยของท่านได้ ก็ถือว่าท่านทำงานวิจัยนั้นสำเร็จลุล่วงไปได้ครึ่งหนึ่งแล้ว