prothesis2000

เทคนิคการเขียนวิทยานิพนธ์ตอนที่ 2: ระเบียบวิธีวิจัย Research Methodology

เทคนิคการเขียนวิทยานิพนธ์ตอนที่ 2: ระเบียบวิธีวิจัย Research Methodology
บทที่ว่าด้วยระเบียบวิจัยนั้นมักจะสร้างความเบื่อหน่ายให้หลายๆ คนที่ไม่รู้ว่า

  1. จะเขียนอย่างไรไม่ให้เป็นการลอกเลียนแบบหรือ Plagiarism
  2. ควรจะต้องเขียนเกี่ยวกับอะไรบ้าง
  3. ควรจะเขียนมากน้อยขนาดไหน
    จากประสบการณ์ของผมแล้วบท Methodology ควรมีลักษณะดังนี้ครับ
  4. เขียนเสมือนหนึ่งว่าเรากำลังเล่าให้ผู้อ่านฟังว่าเราทำวิจัย(วิทยานิพนธ์)นี้อย่างไร
    จุดประสงค์อย่างหนึ่งของบท Methodology ก็คือ ผู้อ่านสามารถทำวิจัยแบบที่เราทำซ้ำได้อีกครั้ง (Replication) ดังนั้นข้อมูลที่เราจะเขียนลงไปในบทนี้ควรจะมีรายละเอียดที่เพียงพอให้ผู้อ่านสามารถทำได้ดังกล่าว อย่างไรก็ตามเราอาจจะไม่ต้องเขียนไปทุกรายละเอียดแต่เล่าในเชิงขั้นตอนว่าทำอะไรอย่างไรบ้าง เช่น สัมภาษณ์โดยวิธีการใด ตัวต่อตัว หรือ ผ่านโทรศัพท์ หรือผ่าน Skype มีการเลือกกลุ่มตัวอย่างด้วยวิธีไหน จำนวนตัวอย่างใช้วิธีใดคำนวณหรือเลือกและสุ่มโดยบังเอิญ หรือ โดยเฉพาะเจาะจงตามความสะดวกหรือการเข้าถึงข้อมูล หากการสัมภาษณ์ใช้แบบสอบถามก็ควรจะมีการแนบแบบสอบถามหรือรายชื่อหัวข้อที่ถามในกรณีที่เป็นการสัมภาษณ์แบบกึ่งเปิดกึ่งปิด โดยควรแนบไว้ที่ภาคผนวก (Appendices) มากกว่าแนบไปในตัวบท
  5. เขียนเสมือนหนึ่งว่าเรากำลังอธิบายว่าเราตัดสินใจเลือกและออกแบบกระบวนการต่างๆ ในการทำวิจัยอย่างไร
    ในข้อนี้เป็นการแสดงว่าระเบียบวิธีวิจัยของเรานั้นมีความถูกต้องและเหมาะสมตามหลัก มีแนวทางการเขียนดังนี้
    2.1 การเลือกระเบียบวิธีวิจัยให้เหมาะสมนั้นขึ้นอยู่กับคำถามวิจัยที่ใช้ ไม่ใช่โดยเหตุผลอื่นๆ เช่น เราคำนวณเก่งหรือไม่เก่ง หรือแม้จะอ้างว่ายังไม่มีใครใช้วิธีนี้ในการวิจัยเรื่องนั้นๆ ซึ่งแม้บางทีจะพอรับได้แต่ก็ไม่ถูกต้องตลอดไป ตัวอย่างการเลือกวิธีการวิจัยที่เหมาะสมเช่น
    ก. คำถามวิจัยเริ่มต้นด้วยคำว่า ทำไม… จึงต้องการรายละเอียดที่จะอธิบายสาเหตุดังกล่าวประกอบกับยังไม่มีแนวทางจากงานวิจัยในอดีตมากนักจึงใช้การสัมภาษณ์แบบปลายเปิดแบบเชิงลึก หรือ
    ข. คำถามวิจัยเริ่มด้วยคำว่า อะไร… เท่าไหร่ ต้องการคำตอบในเชิงปริมาณครอบคลุมกลุ่มตัวอย่างขนาดใหญ่ จึงใช้การสำรวจโดยใช้แบบสอบถาม
    2.2 การเลือกวิธีการวิจัยอาจจะอ้างอิงจากงานวิจัยในอดีตที่ใกล้เคียงกัน
    เช่นจำนวนตัวอย่างที่เหมาะสม หรือหัวข้อคำถาม หรือกรอบแนวคิดที่มากจากงานวิจัยในอดีต
    2.3 การเลือกวิธีการวิจัยอาจจะอ้างอิงจากการศึกษาขั้นต้น
    หากมีโอกาสและเวลาพอ การศึกษาขั้นต้นเช่นกรณีศึกษานำร่อง (Pilot study) อาจจะเป็นตัวกำหนด กรอบแนวคิด หรือ คำถามวิจัย หรือ ตัวแปรที่เหมาะสมก็ได้ หรือหากงานที่ศึกษาใช้แบบสอบถามที่มี Likert Scale การเลือกว่าจะใช้ Likert Scale ที่ 5, 7 หรือ 10 นั้นอาจจะมาจากการทดลองเก็บข้อมูลขั้นต้นก็ได้
    สำหรับ MSc Dissertation ที่มีความยาวไม่เกิน 15,000 คำ บท Methodology ปกติจะมีความยาวประมาณ 2,000-5,000 คำ แล้วแต่ความเหมาะสม