prothesis2000

รับทำผลงานวิชาการเป็นอาชีพ

รับทำผลงานวิชาการเป็นอาชีพ
จ้างทำผลงาน

    รายงานชิ้นนี้ ตีพิมพ์ใน  จุดประกาย Life ฉบับวันอังคารที่ 28 เมษายน 2552 ในลักษณะการนำเสนอ "อาชีพต่างๆ" ในสังคม  โดยไม่ตัดสินเรื่องถูกผิด ผู้อ่านควรพิจารณา ประเด็นด้านศีลธรรมด้วยตัวของท่านเอง

 ไม่ใช่ "อาชีพ" ที่ผู้ทำยินดีจะเปิดเผยตัวเองอย่างเต็มภาคภูมิ แต่เป็นอาชีพที่สะท้อนถึงความเป็นจริงอันน่าเศร้าของสังคมไทย
 ที่สำคัญ อาชีพนี้สามารถสร้างเม็ดเงินเป็นค่าตอบแทนได้จำนวนไม่น้อย หากมีความถนัดด้านการทำวิจัยอยู่บ้าง ก็ใช้เวลาไม่นานนัก อีกทั้งตลาดยังเปิดกว้าง มี "ดีมานด์" หรือ "ความต้องการ" เกิดขึ้นตลอดเวลา เป็นเรื่องที่ท้าทายการจัดการแก้ไขขององค์กรที่รับผิดชอบโดยตรง อย่าง สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ) ไม่น้อย


 เนาวรัตน์ (นามแฝง) หนุ่มวุฒิปริญญาโทสาขาเศรษฐศาสตร์ เปิดเผยข้อเท็จจริงให้ "จุดประกาย-Life" ว่า หลังรับจ้างทำงานวิทยานิพนธ์ เป็น "ไซด์ไลน์ จ๊อบ" มานานหลายปี และผ่านการเขียนวิทยานิพนธ์มากว่า 50 เล่ม ปัจจุบัน ทิศทางของตลาดว่าจ้างทำงานวิชาการเปลี่ยนไป โดยการว่าจ้างทำวิจัยเพื่อเลื่อนวิทยฐานะของครู กลายเป็นตลาดใหม่ที่กำลังมาแรง
 เนาวรัตน์ อธิบายว่าที่มาที่ไปของ "งานรับจ้าง" แบบนี้ มาจากระบบการประเมินครูเพื่อเลื่อนวิทยฐานะ โดยใช้ตัวชี้วัดผลการดำเนินงาน (Key Performance Index - KPI) เป็นหลักเกณฑ์ ซึ่งส่วนใหญ่ลูกค้าที่ว่าจ้างให้ทำกัน มักเป็นระดับเลื่อนขึ้นเป็น "อ. 3" และ "คศ.3" (หรือระดับซี 7 ขึ้นเป็น ซี 8)
 "ครูทุกคนจะต้องเสนอผลงาน แล้วในผลงานทั้งหลายทั้งปวงที่ทำ ต้องมีส่วนของงานวิชาการที่ประกอบด้วย 5 บท โครงสร้างคล้ายๆ กับวิทยานิพนธ์ (Thesis) นั่นแหละ คือต้องมี บทนำ , เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง, วิธีการดำเนินงาน, ผลการทดลอง, สรุปผลและข้อเสนอแนะ"
 เจ้าตัวเผยให้ฟังว่า เนื่องจากเคยรับจ้างทำวิทยานิพนธ์อยู่ก่อนหน้านี้แล้ว เมื่อมี "งานเข้า" จึงลองรับมาทำด้วย แต่โดยส่วนตัวถือว่า "ยากกว่า" เพราะยังไม่คุ้นเคยเท่าใดนัก
 แต่ประเด็นที่เจ้าตัวต้องการเล่าให้ฟังคือ วิธีการนี้สะท้อนถึงการให้ความสำคัญกับเรื่องอื่น แทนที่จะเป็นเรื่อง "การทำการสอน" ซึ่งน่าจะเป็น "เรื่องหลัก" หรือ Priority ของครูมากกว่า โดยช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ที่เด็กใกล้สอบ ครูแทนที่จะสอน กลับมาใช้เวลากับเรื่องนี้เป็นหลัก
 "สำหรับครู การเลื่อนตำแหน่งได้ ต้องทำผลงานความเป็นครู คือมีกิจกรรมกับเด็ก และจะต้องทำงานอะไรบ้าง ต้องมีประวัติการทำงาน การเข้าอบรม โดยที่การสอนไม่นับ หากคุณเป็นครูที่ทำการสอนอย่างเดียว ก็จะได้เพียงขั้นปกติ เงื่อนไขแบบนี้เท่ากับเป็นการผลักดันให้ครูออกไปข้างนอกมากขึ้น เช่น ไปรับงานวิจัย ทำกิจกรรมกับหน่วยงานภายนอก แสดงให้เห็นว่า สมัยนี้เราไม่ได้เน้นความเป็นครูว่าจะต้องสอนเด็กอย่างไร แต่จะเน้นไปที่งานเอกสาร ทำชีวิตให้มีเอกสาร แล้วคุณก็พร้อมที่จะเลื่อนขั้น"
 "นอกจากนี้ ใน KPI ยังมีข้อหนึ่งระบุว่า ห้ามสอนให้เด็กสอบตก ถามว่าแล้วในกรณีนี้ คุณจะให้เด็กตกหรือไม่ การให้เกรดมันง่ายนิดเดียว ใช้ปากกาเขียนเกรดลงไปเท่านั้น ดังนั้น หากมีเด็กตก เขาจะตั้งคำถามว่าคุณสอนอย่างไรให้เด็กสอบตก แต่อย่างที่รู้กันสมัยนี้ เราสอนแทบตาย เด็กยังไม่คิดจะรับเลย เขาไม่สนใจหรอกว่าคุณสอนอย่างไร แต่คุณสอนให้ผ่านเป็นใช้ได้"
 เนื่องจากงานวิจัยเป็นส่วนหนึ่งของการขอเลื่อนขั้นวิทยฐานะ แต่เอาเข้าจริงๆ งานส่วนนี้ ครูโดยทั่วไปไม่ถนัด เช่น ถ้าครูจบปริญญาตรี ก็อาจทำวิทยานิพนธ์ไม่เป็น เพราะไม่ผ่านกระบวนการเรียนในหลักสูตร ดังนั้น จึงมีการว่าจ้างให้ทำวิจัยเกิดขึ้น ซึ่งตลาดที่ว่านี้หมายถึงครูทั่วประเทศที่มีปริมาณเป็นหมื่นคน
 "ในกรณีที่คุณมีกิจกรรมเด่น สอนพลศึกษา ทำให้เด็กนักกีฬาตะกร้อติดทีมชาติไปแข่งขันต่างประเทศ งาน 5 บทนี้ อาจจะไม่เน้น ก็จ้างทำเล่มละ 2 พันก็พอ แต่ถ้าไม่มี คุณก็ต้องเข้มข้นงานตรงนี้หน่อย"
 โดยส่วนตัวของเนาวรัตน์ ปีนี้เขารับทำวิจัยให้ครู 7 ราย จากเดิมที่มีการติดต่อเข้ามาเพื่อให้ทำวิทยานิพนธ์ ผลปรากฏว่าตอนนี้มีติดต่อมาเพื่อทำงานนี้มากกว่า
 "ตอนนี้ระดับค่าจ้างของผม สำหรับวิทยานิพนธ์อยู่ในขั้นแพงกว่าคนอื่นๆ คือตกเล่มละ 2 หมื่นอัพ ขณะที่ตลาดรับจ้างทำวิทยานิพนธ์ มีคนแห่ทำกันมาก และยอมตัดราคาลงไปต่ำกว่านี้ ราคาถูกจนผมทำไม่ไหว เลยหันมารองรับงานวิจัยเลื่อนขั้นครูดูบ้าง แต่เชื่อว่าปัจจุบันมีคนรับจ้างทำเยอะมาก เพราะสังเกตตั้งแต่ปีที่แล้ว จากการปฏิเสธครูไปหลายราย ปรากฏว่าไม่มีใครกลับมาง้อ แปลว่าเขาสามารถหาคนรับจ้างรายใหม่ๆ ได้ไม่ยาก"
 "ราคาค่าจ้างทำวิทยานิพนธ์ เล่มละ 2 - 5 หมื่น แต่ผลงานวิชาการครู เล่มตั้งแต่ 2 พัน ถึง 2 แสนบาท จะเห็นได้ว่ามีความแตกต่างกันอย่างมาก"
 พร้อมอธิบายว่า ระดับราคา 2 พัน หมายถึงเจ้าหน้าที่ธุรการในโรงเรียน พวกลูกจ้างชั่วคราวที่จบปริญญาโท  เมื่อนายสั่งให้ทำก็ต้องทำ แต่ค่าจ้างโดยทั่วไปจะอยู่ที่ 2 - 5 หมื่นบาท ส่วนผู้มีอำนาจในการให้ผ่าน (กรรมการ) ว่ากันว่า คิดราคาถึง 2 แสนบาทเลยทีเดียว
 "ก่อนที่ สพฐ.จะกำหนดให้ทำนั้น จะมีการอบรมครู มีเอกสารให้ แล้วคนที่ทำหน้าที่อบรม อาจจะพูดนัยว่า ถ้ามีอะไรให้โทร.มานะ" เนาวรัตน์ บอก
 เจ้าตัวกล่าวพร้อมเสริมข้อมูลให้รู้ว่า ความแตกต่างจากการทำวิทยานิพนธ์อยู่ตรงงานวิจัยเพื่อเลื่อนขั้นครู จะเน้นไปที่การประมวลผลทางสถิติ เก็บข้อมูล การออกแบบเครื่องมือ คิดสร้างนวัตกรรม และยังต้องใช้เวลาในการเก็บข้อมูล โดยวิธีการทำงาน จะออกแบบให้ครูนำกลับไปเก็บข้อมูล จากนั้นจะมีการส่งเอกสารไปและมา
 "ขณะที่วิทยานิพนธ์จะเน้นเชิงคุณภาพ รวมไปถึงคุณภาพในการเขียน แต่ในส่วนนี้ เมื่อตรวจออกมา ข้อหนึ่ง-เขาบอกว่าปีของการรีวิวเอกสารเก่าเกินไป ทั้งที่เราไม่เห็นว่า theory บางอย่างมันจะเชย เพราะ theory เป็นเรื่องของ logic" เนาวรัตน์ตั้งข้อสังเกต
 แม้จะมีข้อเสียอยู่บ้าง แต่ข้อดีของการทำวิจัยเลื่อนวิทยฐานะ คือการทำให้ครูต้องปรับปรุงตัวเองให้มีความก้าวหน้า
 "ทำให้ครูไม่ตาย ไม่ใช่ว่าใช้ sheet ชุดเดียวแล้วสอนตลอดชาติ แต่สิ่งที่น่าเสียดาย อยู่ตรงการประเมินวิทยฐานะไม่ได้สนใจผลที่สะท้อนกลับไปยังตัวเด็ก แต่กลับมาเน้นสถิติที่ใช้วัด คุณใช้สถิติได้ดีแค่ไหน เขียนประเมินผลอย่างไร รวมถึงสื่อการสอน มีการคิดสร้างสื่อไปใช้กับเด็ก ห้องนี้เรียน ห้องนี้ไม่เรียน แล้วใช้สถิติทดสอบความแตกต่าง"
 เนาวรัตน์ยอมรับตามความเป็นจริงว่า ลูกค้าที่เป็นครูนั้นมีความน่าเบื่อมากกว่านักศึกษาปริญญาโท เพราะลักษณะของครู มักมีนิสัยเผด็จการ มีความดื้อและพูดคุยไม่รู้เรื่อง ...
"คือถ้านักศึกษามาให้เราทำ เขาจะรู้ตัวเลยว่า เขาไม่รู้เรื่อง ต้องเจียมตัว ปัญหาที่เราเห็นคือไม่รู้ว่าจบปริญญาตรีมาได้อย่างไร และบางทีเราไม่เก่งพอที่จะไปสอนเขาได้ โดยเฉพาะวิชาที่ไม่ใช่เอกของเรา ยกตัวอย่างเช่น เราพูดถึงดีมานด์-ซัพพลาย เขาถึงขนาดไม่รู้ว่า แกนเอ็กซ์ คือ P (price) แกนวายคือ Q (Quantity) ต้องให้เรานั่งสอนขนาดนั้นเลย กว่า thesis จะเสร็จเล่มนึง กลับไปเรียนใหม่ดีกว่ามั้ย ขนาด Over-Supply ยังต้องนั่งอธิบาย"
 แต่เหตุผลที่เขารับจ้างทำงานวิจัยเพื่อเลื่อนวิทยฐานะ เพราะเห็นว่าเป็นงานที่สนุกและท้าทาย
 "ผมจะตั้งเป็น template รอไว้เลย สัก 5 เล่ม พอเดือนมกราคม กุมภาพันธ์ พวกที่ไม่มีปัญญาทำ จะวิ่งมาหาแล้ว เราทำเป็นบล็อกไว้ แล้วค่อยเปลี่ยนเรื่องใบความรู้ หรือเครื่องมือ สื่อการสอน ระยะเวลาทำจริงๆ แค่ 1 เดือน แต่ถ้านับวันที่เรานั่งทำงานบนโต๊ะ ไม่ถึงเดือนหรอก ด้วยความเร็วของผม บท 1-2-3 ผมใช้เวลาจริงๆ แค่ 2 คืน จริงๆ เร็วได้กว่านั้น แต่เราไม่ได้นั่งเทียนในเรื่อง data ไม่งั้น คงเสร็จเร็วกว่านี้"
 ในตอนท้ายของการให้ข้อมูล เจ้าตัวยอมรับว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาระบบการศึกษาที่เลวร้าย แต่ถึงเขาไม่ทำ โดยระบบก็เอื้อให้มีคนรับจ้างทำงานนี้อยู่ดี โดยกลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นครูอายุตั้งแต่  40 ขึ้นไป จนถึงเกือบ 60 ปี
 "การจ่ายค่าจ้างถือว่าคุ้มค่า เพราะเมื่อเลื่อนขั้นได้แล้ว ครูจะได้ค่าตอบแทนเพิ่มอีกเดือนละ 7 พันบาท จึงเป็นเป้าหมายของบรรดาครูใกล้เกษียณทั้งหลาย ! "

อาชีพ : รับจ้างทำผลงานวิชาการเพื่อเลื่อนวิทยฐานะ
องค์ความรู้ : มีทักษะและความรู้พื้นฐานในการทำวิจัย
กลุ่มเป้าหมาย : ครูระดับ อ. 2 ที่ต้องการปรับขึ้นเป็น อ.3
ระดับราคา : โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 2 หมื่น – 5 หมื่นบาท ต่อเล่ม
สถานที่ติดต่อ : ไม่สามารถเปิดเผยได้

   จากเหตุการณ์ ที่เล่ามาทั้งหมดนี้  จะโทษใคร  วงการศึกษาไทยจึงเป็นแบบนี้  ใครตอบได้  ช่วยตอบครู ท. หน่อยจักเป็นพระคุณอย่างสูงยิ่ง

เขียนใน GotoKnow
โดย ท.ณเมืองกาฬ
ใน วิชาการ