prothesis2000

ทปอ.ลั่นจ้างทำวิทยานิพนธ์ จับได้”พ้นสภาพนิสิต-นศ.”

ทปอ.ลั่นจ้างทำวิทยานิพนธ์ จับได้”พ้นสภาพนิสิต-นศ.”
ขึ้นแบล็คลิสต์ส่งรายชื่อให้ 27มหา’ลัยสมาชิก ทปอ.งดรับเข้าเรียน ตัดวงจรจ่ายครบจบแน่ มอบนิติกรศึกษาข้อกฎหมายเอาผิดคนรับจ้างด้วย ชี้ปัญหาเริ่มรุนแรงมากขึ้น ทำคุณภาพการศึกษาไทยตกต่ำ
อาทิตย์ที่ 23 สิงหาคม 2558 เวลา 05.59 น.

ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) วิทยาเขตศรีราชา จ.ชลบุรี วันที่ 23 ส.ค.ศ.ดร.ประสาท สืบค้า อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เปิดเผยว่า ในการประชุม ทปอ.วันนี้ ที่ประชุมได้หารือถึงปัญหาการจ้างทำสารนิพนธ์ และวิทยานิพนธ์ของนิสิต-นักศึกษา ทั้งในระดับปริญญาตรี โท และเอก ที่พบว่าปัญหาเริ่มมีความรุนแรงมากขึ้น และส่งผลต่อคุณภาพการศึกษาของไทย โดยการรับจ้างทำวิทยานิพนธ์ และสารนิพนธ์นั้นราคาอยู่ที่ประมาณ 20,000-500,000 บาท ขึ้นอยู่กับความยากง่ายของแต่ละสาขาวิชา

ดังนั้นในฐานะที่ ทปอ. เป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ดูแลอุดมศึกษา จึงมีความกังวลว่า หากปล่อยไว้เช่นนี้คุณภาพการศึกษาไทย โดยเฉพาะระดับอุดมศึกษาจะตกต่ำไปมากกว่านี้ ที่ประชุมจึงมีมติร่วมกันว่าตั้งแต่ปีการศึกษา 2558 เป็นต้นไป หากพบว่ามีนิสิต-นักศึกษาในสถาบันที่เป็นสมาชิกทปอ. ทั้ง 27 แห่ง มีการจ้างทำ หรือคัดลอกวิทยานิพนธ์ และสารนิพนธ์จะถูกให้พ้นสภาพจากความเป็นนิสิต-นักศึกษาทันที และจะมีการส่งรายชื่อนิสิต-นักศึกษาไปยังมหาวิทยาลัยที่เป็นสมาชิก ทปอ. ทุกแห่ง เพื่อไม่ให้บุคคลดังกล่าวเข้าศึกษาต่อ นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้มอบให้นิติกรของ ทปอ. ไปศึกษาข้อกฎหมายด้วยว่า จะสามารถเอาผิดผู้ที่รับจ้างทำวิทยานิพนธ์ และสารนิพนธ์ได้อย่างไรบ้าง ทั้งนี้หากพบว่าผู้รับจ้างเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย นอกจากจะถือว่ามีความผิดทางจรรยาบรรณของวิชาชีพแล้ว จะถูกพิจารณาโทษทางวินัยของข้าราชการ และพนักงานมหาวิทยาลัยด้วย แต่จะถูกลงโทษในขั้นใดนั้นขึ้นอยู่กับการพิจารณาของแต่ละแห่ง

“ที่ผ่านมาพบว่า การรับจ้างทำวิทยานิพนธ์ส่วนใหญ่จะประกาศผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ โดยคนที่รับจ้างจะเป็นคนที่เก่ง และมีความเชี่ยวชาญ สามารถรับทำวิทยานิพนธ์ และทำงานวิจัยได้เฉลี่ยเดือนละ 5-20 ชิ้น ซึ่งถือว่าคนกลุ่มนี้เป็นผู้ที่ทำให้การศึกษาไทยตกต่ำ ทำลายระบบการศึกษาของประเทศ ซึ่ง ทปอ.ยอมไม่ได้ โดยเฉพาะขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ได้กำหนดเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษาใหม่ว่า อาจารย์ประจำหลักสูตรต้องมีคุณวุฒิระดับปริญญาเอก ดังนั้นหากมีการปล่อยปละละเลยให้มีการรับจ้างทำวิทยานิพนธ์ และได้ผู้ที่จ้างทำวิทยานิพนธ์เข้ามาเป็นอาจารย์สอน ก็จะยิ่งทำให้คุณภาพการศึกษาของเราตกต่ำไปเรื่อย ๆ ที่ประชุมจึงเห็นพ้องร่วมกันว่า ในฐานะที่เป็นสถาบันอุดมศึกษา ยืนยันว่าจะร่วมกันหาระบบป้องกันปัญหาการรับจ้างทำวิทยานิพนธ์ และไม่ให้เกิดปัญหาจ่ายครบจบแน่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยที่เป็นสมาชิก ทปอ.เด็ดขาด อย่างไรก็ตามหลังจากนี้จะมีการจัดทำคู่มือหลักเกณฑ์และมาตรการป้องกันปัญหาดังกล่าว เพื่อกำหนดเป็นแนวปฏิบัติร่วมกันให้ชัดเจนต่อไป” ศ.ดร.ประสาท กล่าว

ศ.ดร.ประสาท กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้มีการหารือ เพื่อเตรียมการขอเข้าพบ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ และ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมช.ศึกษาธิการคนใหม่ ซึ่งคาดว่าจะได้เข้าพบในเร็ว ๆ นี้ เพื่อรายงานภารกิจของมหาวิทยาลัย รวมถึงขอรับการสนับสนุนทั้งในระดับนโยบาย คณะรัฐมนตรี และรัฐมนตรี พร้อมกันนี้จะทำเข้าความใจถึงการดำเนินการในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัย เช่น การเปลี่ยนสถานภาพของมหาวิทยาลัยจากมหาวิทยาลัยของรัฐ เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ หรือมหาวิทยาลัยนอกระบบ เป็นต้น นอกจากนี้จะขอรับฟังนโยบายเกี่ยวกับการอุดมศึกษาจากรมว.ศึกษาธิการคนใหม่ด้วย…. อ่านต่อที่ : https://www.dailynews.co.th/education/343507