จาะธุรกิจ ‘รับทำวิทยานิพนธ์’ : ช่องโหว่การศึกษา ปริญญาแกมโกง ?

พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล  12 May 2017

หากจุดประสงค์ของการศึกษา คือการเพิ่มพูนปัญญาความรู้ คนที่สมาทานตนเป็น ‘นักศึกษา’ ไม่ว่าในระดับใดก็แล้วแต่ ย่อมต้องขวนขวายร่ำเรียนเพื่อให้ได้มาซึ่งความรู้ต่างๆ นานา เพื่อนำความรู้นั้นไปใช้ในการหาเลี้ยงชีพต่อไป

ทว่าเมื่อโลกของการศึกษา ถูกนำมาหลอมรวมเข้ากับคำว่าธุรกิจ จุดประสงค์ดั้งเดิมของมันจึงเบี้ยวบิด และเปิดโอกาสให้คนกระทำการทุจริตเพื่อให้ได้มาซึ่ง ‘ผลการศึกษา’ (ไม่ว่าจะอยู่ในรูปของเกรด ใบปริญญา หรือคำนำหน้าทางวิชาการ) ที่สามารถนำไป ‘ใช้ประโยชน์’ ต่อได้

หนึ่งในธุรกิจที่เฟื่องฟูก็คือธุรกิจ ‘รับทำวิทยานิพนธ์’ ซึ่งหลายคนคงเคยเห็น หรืออาจเคยใช้บริการกันมาบ้าง

หลายคนมองว่านี่คือ ‘รอยด่าง’ ทางการศึกษา แต่บางคนกลับมองมันในฐานะของ ‘ตัวช่วย’ ที่น่าแปลกคือในหลายประเทศ ธุรกิจประเภทนี้กลับถูกกฎหมายซะด้วย!

ทั้งนี้ คำถามที่น่าคิดก็คือ ธุรกิจที่ว่านี้ควรเป็นสิ่งที่ ‘ยอมรับได้’ หรือไม่ ?

ในอเมริกา ธุรกิจรับจ้างเขียนบทความหรือทำวิจัยเพื่อการศึกษานั้นมีมานานนับศตวรรษแล้ว เริ่มจากเหตุการณ์สามัญในหอพักนักศึกษา ซึ่งมีการ ‘แชร์การบ้าน’ กันในหมู่นักศึกษาไฮสคูล ก่อนที่นักศึกษาบางกลุ่มจะมองเห็นลู่ทางว่าแทนที่จะปล่อยให้แชร์หรือลอกกันแบบฟรีๆ ก็หารายได้จากมันเสียเลย

วิธีการที่นักศึกษากลุ่มนี้ใช้ ก็คือการรับจ้างเขียนงานแบบเอนกประสงค์ ตั้งแต่รายงานชิ้นเล็กๆ ไปจนถึงงานวิจัยก่อนจบการศึกษา โดยมี ‘นักเขียนเงา’ หรือโกสต์ไรเตอร์เป็นบรรดารุ่นพี่ที่เรียนจบไปแล้ว

ที่สำคัญคือทำกันแบบโจ่งแจ้งเสียด้วย โดยมีการติดประกาศไปทั่วตามสถานศึกษาต่างๆ ขณะที่นักศึกษาก็หันมาใช้บริการกันอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะในช่วงยุค 1960s – 1970s ที่เกิดกระแสการต่อต้านการศึกษาในระบบ ด้วยเหตุที่ว่าวิชาการที่สั่งสอนกันในห้องเรียน รวมไปถึงรายงานต่างๆ ที่ต้องทำนั้น ไม่น่าสนใจเท่ากับการออกไปทำกิจกรรมตามใจชอบนอกห้องเรียน ส่งผลให้ธุรกิจรับจ้างเขียนงานยิ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี และกลายเป็นธุรกิจที่แพร่หลายในเวลาต่อมา รู้จักกันในชื่อ ‘Essay Mill’ หรือโรงงานผลิตข้อเขียน

ขั้นตอนการให้บริการก็แสนง่าย เพียงแค่เดินเข้าไปบอกว่าต้องการงานเขียนหัวข้ออะไร ความยาวเท่าไหร่ กำหนดเวลาที่ต้องส่ง พร้อมตกลงค่าใช้จ่าย ทีมงานคุณภาพก็พร้อม ‘เขียนงานตามสั่ง’ ให้ได้ทันที และนับตั้งแต่ปลายทศวรรษ 90s เป็นต้นมา ธุรกิจนี้ก็เริ่มเข้าถึงผู้คนได้สะดวกและกว้างขวางขึ้นผ่านช่องทางออนไลน์

ทว่าในทางกลับกัน ก็ทำให้ถูกจับตาและเพ่งเล็งจากองค์กรด้านการศึกษา ว่าเข้าข่ายการกระทำที่ ‘ทุจริต’ หรือไม่

แม้จะไม่มีบัญญัติไว้ในกฎหมาย แต่ในทางศีลธรรม นี่ย่อมไม่ใช่ธุรกิจที่ ‘สะอาด’ อย่างแน่นอน

ทั้งนี้ เงื่อนไขสำคัญที่ทำให้บรรดา ‘Essay Mill’ สามารถดำเนินการได้อย่างถูกกฎหมาย ก็คือการกำหนดเงื่อนไขว่าลิขสิทธิ์ในงานเขียนทั้งหมดนั้นเป็นของบริษัท ส่วนลูกค้าที่เป็นคนจ้าง จะมีกรรมสิทธิ์ในตัวงานแบบจำกัดเท่านั้น และไม่สามารถนำไปตัดต่อหรือเปลี่ยนแปลงโดยไม่ได้รับอนุญาต

อย่างไรก็ดี ในหลายๆ รัฐมีความพยายามที่จะตั้งกฎหมายของตัวเองขึ้นมาเพื่อจัดการกับปัญหานี้ เพราะพวกเขามองว่านี่คือการฉ้อฉลทางวิชาการ (academic fraud) ทว่าเหล่าบริษัททั้งหลายก็ยังคงหาทางหนีทีไล่กันได้แบบไม่จนมุม

หนึ่งในบริษัทที่ถูกกล่าวหา ถึงกับขึ้นประกาศตอบโต้บนเว็บไซต์ว่า “บริการของเราก็เหมือนกับการเข้าห้องสมุด เราเพียงแต่ทำหน้าที่บรรณารักษ์ ผู้หยิบยื่นวัตถุดิบอะไรก็ตามที่จะทำให้คุณได้เกรดที่ดี และทำหน้าที่จัดการงานของคุณให้ลุล่วง ตามที่คุณได้วางแนวทางไว้”

จนถึงทุกวันนี้ การถกเถียงถึงความชอบธรรมของธุรกิจนี้ ยังไม่เป็นที่สิ้นสุด โดยฝ่ายที่สนับสนุนนั้นมองว่าธุรกิจนี้จริงๆ แล้วก็เป็นเหมือนไกด์นำทาง บ้างก็บอกว่าเป็นเหมือนคนตรวจภาษา โดยเฉพาะนักศึกษาที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก ที่มักจะใช้บริการบริษัทเหล่านี้เป็นตัวช่วยในการ ‘ขัดเกลาภาษา’ ให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ ส่วนฝั่งที่ไม่เห็นด้วยนั้น มองว่านี่เป็น ‘การลอกเลียนวรรณกรรม’ (Plagiarism) รูปแบบหนึ่ง ซึ่งเป็นตัวบ่อนทำลายแวดวงการศึกษา

นอกจากอเมริกา หลายประเทศก็มีธุรกิจที่ว่านี้ที่สามารถเปิดให้บริการอย่างถูกกฎหมายเหมือนกัน แต่ส่วนใหญ่ก็มักจะดำเนินการในรูปแบบที่แนบเนียน ด้วยเงื่อนไขและคำอธิบายที่แตกต่างกันไป

สำหรับประเทศไทยเราก็มีบริษัทหรือคนที่รับงานประเภทนี้เช่นกัน แต่อาจไม่โจ่งแจ้งหรือแพร่หลายอย่างในอเมริกา

ยิ่งในช่วงหลายปีมานี้ มีข่าวคนดังในแวดวงวิชาการหลายคน ถูกขุดค้นประวัติการทุจริตทางการศึกษา นำผลงานของคนอื่นมาดัดแปลง ลอกเลียน ชนิดที่เรียกว่า ‘เหมือน’ จะน่าตกใจ ส่งผลให้ถูกลงโทษ ถอดถอนปริญญา ยิ่งกว่านั้นคือการเสื่อมเสียชื่อเสียง ทำให้การรับจ้างเขียนงานในลักษณะนี้มีความเสี่ยงมากขึ้น

อย่างไรก็ดี จากการสืบเสาะข้อมูลเกี่ยวกับคนที่เคยทำและเคยใช้บริการประเภทนี้ เราพบว่ามีรายละเอียดที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย

เริ่มจาก ‘ประเภท’ ของงาน งานส่วนใหญ่ที่บริษัทหรือผู้รับทำวิทยานิพนธ์ทำนั้น จะเน้นไปที่งาน ‘ภาษาอังกฤษ’ ของนักศึกษาระดับปริญญาโท และปริญญาเอก โดยเหตุผลหลักๆ ก็มาจากการที่ลูกค้า หรือนักศึกษาที่มาจ้างนั้น ไม่มีความเชี่ยวชาญในการเขียนภาษาอังกฤษให้ถูกหลักวิชาการ

พูดง่ายๆ ว่า ถ้าอยาก ‘ผ่าน’ ก็ต้องจ้างให้คนช่วย ตั้งแต่การเขียนเป็นภาษาไทยแล้วเอามาให้ช่วยแปล ไปจนถึงช่วยเขียน และบางครั้งก็ต้องมีการ ‘ติว’ เพื่อให้สามารถนำเสนอและตอบคำถามอาจารย์ได้อย่างราบรื่น

ค่าใช้จ่ายนั้นเริ่มตั้งแต่หลักหมื่นต้นๆ ไปจนถึงหลักแสน ขึ้นอยู่กับความยากง่าย และรายละเอียดของงาน ส่วนกลุ่มลูกค้าที่ใช้บริการกันเยอะ (และแทบจะเป็นเรื่องปกติ) คือกลุ่มของนักศึกษามหาวิทยาลัยเอกชนที่มีฐานะดี และใช้ภาษาอังกฤษในการเรียนการสอนเป็นหลัก

นักศึกษามหาวิทยาลัยเอกชนชื่อดังแห่งหนึ่ง ถึงกับระบายความในใจลงในบล็อคส่วนตัวว่าเพื่อนๆ ในมหาลัยจำนวนไม่น้อย มองว่านี่เป็นเรื่องปกติที่ ‘ใครๆ ก็ทำกัน’ ส่วนคนที่ไม่ทำ หลายครั้งก็มักถูกเหน็บแนมทำนองว่า ‘ไม่ไฮโซ’ เสียอย่างนั้น…

อีกประเด็นที่น่าสนใจ คือการนำเสนอจุดขายของบริษัทต่างๆ ซึ่งมักการันตีความเสี่ยงว่าจะไม่โดนจับ ไม่ว่าเป็นการช่วยติวเข้มก่อนนำเสนอ การใช้โปรแกรมตรวจสอบคำซ้ำ หรือกระทั่งการย้ำว่าเป็นงานที่เขียนใหม่ทั้งหมด

บริษัทหนึ่งที่รับทำเฉพาะงานวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก มีการรับประกันอย่างชัดเจนว่าจะไม่มีเนื้อหาที่ลอกเลียนแบบ หรือ ‘Plagiarised content’ 100% เพราะงานจะได้รับการสแกนโดย ‘Turn it in’ โปรแกรมที่มหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกใช้ในการตรวจหาข้อความซ้ำในวิทยานิพนธ์และงานวิจัยต่างๆ

ในขณะที่การตรวจสอบการลอกเลียนวิทยานิพนธ์ ยังปรากฏให้เห็นอยู่เป็นระยะ และถูกมองในฐานะของการกระทำความผิดเชิงวิชาการ

แต่กับการตรวจสอบ ‘การรับทำวิทยานิพนธ์’ ดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่คนในแวดวงการศึกษาไทยยังไม่ได้ให้ความสนใจมากนัก ซึ่งถ้ามองในแง่ของผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา หรือกระทั่งใบปริญญา ที่คนๆ นั้นสามารถนำไปใช้ประโยชน์หรือ ‘อ้างเครดิต’ ในหน้าที่การงานได้ ผลเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นย่อมไม่ต่างกัน

และอาจร้ายแรงยิ่งขึ้น–หากคนเหล่านั้นได้เข้ามามีบทบาทเป็นผู้บริหารองค์กรใหญ่ๆ หรือทำหน้าที่สำคัญในระดับประเทศ

อ่านเพิ่มเติม

– บทความ ‘Cheating Goes Global as Essay Mills Multiply’ ของ Thomas Bartlett จาก The Chronicle of Higher Education, March 20, 2009

– บทความ ‘Essay mills — a coarse lesson on cheating’ ของ Dan Ariely จาก Los Angeles Times, June 17, 2012