prothesis2000

การใช้ประโยชน์จากงานวิจัยได้จริง

เมื่อกล่าวถึงคำว่า “งานวิจัย” หลายคนคงนึกถึงนักวิชาการครูบาอาจารย์ นักศึกษาในมหาวิทยาลัย ที่ต้องมีบทบาทในการศึกษาวิจัยในประเด็นต่างๆ หากพูดถึงชาวบ้านโดยทั่วไป ซึ่งเป็นคนเล็กคนน้อยในสังคม คงยากที่จะทำวิจัยได้ หากแต่มีงานวิจัยอีกอย่างหนึ่งที่เรียกว่างานวิจัยเพื่อท้องถิ่น (Community Based Research : CBR) ที่ให้ความสำคัญในการพัฒนาขีดความสามารถของชุมชนท้องถิ่น โดยเน้นให้ “คน” ในชุมชนท้องถิ่นเกิดการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยได้จริง ด้วยการเข้าร่วมกระบวนการวิจัยทุกขั้นตอน เริ่มตั้งแต่การวิเคราะห์ชุมชนเพื่อกำหนดโจทย์/คำถามวิจัย การทบทวนทุนเดิมในพื้นที่ สถานการณ์ปัญหาผลกระทบที่มีต่อชุมชนในทุกมิติ จนสามารถสรุปได้ว่าอะไรที่เป็นโจทย์ร่วมของชุมชนอย่างแท้จริง และเป็นทุกข์ร่วมของชุมชน (ทุกข์หน้าหมู่) และนำไปสู่การออกแบบการวิจัย และการวางแผนปฏิบัติการวิจัย การเก็บรวบรวมข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูล การทดลองปฏิบัติจริง เพื่อสร้างรูปธรรมในการตอบโจทย์วิจัยหรือแก้ปัญหาในพื้นที่วิจัย ตลอดจนการประเมินผลและสรุปบทเรียน รวมถึงสร้างให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ระหว่างนักวิจัยชาวบ้าน คนในชุมชนท้องถิ่น นักวิชาการ สถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐนักพัฒนาและผู้ทรงคุณวุฒิที่จะได้เรียนรู้ร่วมกัน เพื่อสร้างความรู้และกลไกการจัดการปัญหา เพื่อนำไปสู่การพึ่งตนเองของชุมชนในพื้นที่วิจัย

อำเภอบ่อเกลือ จะเป็นพื้นที่ชนบทที่อยู่ห่างไกล โอบล้อมด้วยขุนเขาและสายน้ำและผืนป่าที่ยังคงมีความอุดมสมบูรณ์อยู่ มีเขตการปกครองอยู่ 4 ตำบล คือ ตำบลบ่อเกลือเหนือ ตำบลบ่อเกลือใต้ ตำบลภูฟ้าและตำบลดงพญา 39 หมู่บ้าน มีจำนวนประชากรทั้งหมด 14,907 คน ประชากรส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ลัวะ คนเมืองและม้ง ที่ตั้งบ้านเรือนอยู่บนที่สูง ประกอบอาชีพการปลูกไร่ข้าวหมุนเวียนเป็นหลัก แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นประเด็นร่วมของคนในพื้นที่ คือ ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งมีผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งปัญหาดังกล่าวจึงถูกพัฒนามาเป็นโจทย์วิจัย ภายใต้โครงการ กลไกการเสริมสร้างธรรมาภิบาลท้องถิ่นและการเฝ้าระวังการทุจริตคอร์รัปชัน โดยชุมชนมีส่วนร่วม : กรณีศึกษา พื้นที่อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน โดยมีพื้นที่วิจัยจำนวน 3 ตำบล คือ ตำบลภูฟ้า ตำบลบ่อเกลือใต้และตำบลดงพญา และมีนักวิจัยชาวบ้านจำนวน 100 คน เป็นทีมวิจัย โดยการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) งาน SRI Unit ภายใต้แผนงานท้าทายไทย ชุดสังคมไทยไร้คอร์รัปชัน ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยใช้เครื่องมือการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (Participatory Action Research: PAR) ซึ่งงานวิจัยดังกล่าว เป็นงานวิจัยที่ดำเนินการโดยนักวิจัยชาวบ้านในพื้นที่อำเภอบ่อเกลือ ที่เห็นความสำคัญของปัญหาและที่ต้องการให้คนในชุมชนท้องถิ่น ซึ่งเป็นคนเล็กคนน้อยและเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง ได้ลุกขึ้นมาค้นหาปัญหาของตนเอง โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนสังคมและมีเรียนรู้จากการปฏิบัติจริงในพื้นที่ โดยใช้กระบวนการงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น เป็นเครื่องมือในการดำเนินงานวิจัย รวมทั้งให้ชาวบ้านในพื้นที่มีโอกาสกำหนดนิยามและปัญหาคอร์รัปชันด้วยตนเอง และสร้างการมีส่วนร่วมและสร้างความร่วมมือของชาวบ้านและหน่วยงานในพื้นที่ต่อการแก้ไขปัญหาและสร้างกลไกเฝ้าระวังด้านคอร์รัปชัน

ในปี 2562 ถือเป็นปีที่ 2 ของการดำเนินการวิจัย ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงของการดำเนินการศึกษาวิจัย โดยเน้นในส่วนของการสร้างกลไกในการป้องกันและเฝ้าระวังการทุจริตคอร์รัปชัน และเสริมสร้างธรรมาภิบาลให้เกิดขึ้นในพื้นที่ สิ่งที่เป็นโจทย์สำคัญคือ การนำเอาข้อค้นพบจากผลการศึกษาวิจัย ระยะที่ 1 ทั้งข้อมูลความรู้ในด้านต่างๆ ซึ่งยังคงเป็นความรู้ระดับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ แต่สิ่งที่จะต้องศึกษาในระยะที่ 2 คือ การสืบค้นข้อมูลให้ลงลึกในรายละเอียด ทั้งในระดับสถิติของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละประเด็น รวมถึงระดับโครงสร้าง ทั้งนี้เพื่อให้เห็นข้อมูลที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น และสามารถเชื่อมโยงข้อมูลความรู้ระดับพื้นที่ไปสู่ความรู้ในระดับจังหวัดและระดับประเทศต่อไป นอกจากนั้นยังให้ความสำคัญในการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมและความเข้มแข็งให้เกิดขึ้นในชุมชนโดยการให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน ผลกระทบ ผลเสีย สร้างความรู้ความเข้าใจ ทั้งในเรื่องค่านิยม การปลูกฝัง ทัศนคติของคนในชุมชน ในเรื่องหลักคุณธรรมความดี การรู้จักแยกแยะสิ่งที่เป็นประโยชน์ส่วนตน ประโยชน์ส่วนรวมและผลประโยชน์ของประเทศชาติ โดยเริ่มตั้งแต่ระดับครอบครัว ชุมชน หน่วยงาน สถานศึกษา องค์กรต่างๆ ในพื้นที่ รวมถึงในกลุ่มของเยาวชน นักเรียน นักศึกษาในพื้นที่ เสริมสร้างการเรียนรู้ในเรื่องกฎหมาย กฎระเบียบ ขอบเขตอำนาจหน้าที่ของความเป็นพลเมือง สิทธิขั้นพื้นฐาน และเรียนรู้ในเรื่องวิธีการดำเนินงาน งบประมาณโครงการและการจัดซื้อจัดจ้าง ให้กับคนในชุมชนท้องถิ่น และควรที่จะมีการบันทึกข้อมูลผู้รับเหมา – รับจ้าง ในพื้นที่ทั้งหน่วยงานของรัฐและหน่วยงานราชการที่มีการจัดซื้อจัดจ้าง รวมถึงควรมีการทดลองปฏิบัติการหรือมีภาคปฏิบัติเพื่อสร้างการเรียนรู้ของคนในชุมชน เพื่อตรวจสอบความโปร่งใสในการทำงานของภาครัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น การฝึกดูโครงการ รายละเอียดโครงการ ฝึกการตรวจสอบ การสอบถามการทำงานจัดซื้อจัดจ้าง หรือการดำเนินงานโครงการต่างๆ รวมถึงทดลองการแจ้งเบาะแสผ่านเครื่องมือที่สร้างโดยทีม SIAM LAB เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับคนในชุมชนตลอดจนการก้าวข้ามความกลัวต่าง และเป็นการเรียนรู้จากของจริงในพื้นที่

ADVERTISEMENT

นอกจากนั้นการสร้างกลไกในการเฝ้าระวังการทุจริตคอร์รัปชัน จำเป็นต้องสร้างกลไกในหลายๆ ด้าน เช่น

1.กลไกการเฝ้าระวัง ทั้งในการไม่ให้เกิดปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในพื้นที่ ตั้งแต่เริ่มมีการดำเนินงานโครงการต่างๆ ที่จะต้องให้คนในชุมชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการรับรู้ข้อมูลโครงการ ติดตามระหว่างดำเนินงานโครงการและสรุปประเมินหลังเสร็จสิ้นโครงการ รวมถึงกลไกการเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยง ที่เป็นชาวบ้านที่จะตกเป็นเครื่องมือของการทุจริตคอร์รัปชันในพื้นที่ เช่น การใช้ความไม่รู้ของชาวบ้านในการก่อทุจริตในโครงการ การเปิดบัญชีผี การลงลายชื่อเข้าร่วมเวทีหรือกิจกรรมที่จำเป็นต้องขอลายเซ็นจากชาวบ้านในการเบิกเงินโครงการ เป็นต้น ซึ่งเรื่องดังกล่าวมักเกิดขึ้นเป็นประจำสำหรับชาวบ้านที่ไม่มีความรู้ในด้านนี้หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เป็นต้น

2.กลไกการให้กำลังใจ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากการที่ชุมชนจะลุกขึ้นมาทำงานด้านนี้ ถือเป็นเรื่องยากและอันตราย การก้าวข้ามความกลัว จึงเป็นปราการด่านแรกที่ชุมชนต้องผ่านให้ได้ เนื่องจากเป็นประเด็นที่มีอันตราย ทั้งภัยจากอิทธิพลมืดหรือการบังคับข่มขู่ จำเป็นที่จะต้องมีการผนึกกำลังกันของกลุ่มคนในพื้นที่ เพื่อต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน การให้กำลังใจซึ่งกันและกันตลอดจนการปกป้องดูแลรักษาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง

3.กลไกการสื่อสาร ถือเป็นกลไกหนึ่งที่มีความสำคัญ ที่ปัจจุบันอยู่ในยุคดิจิทัล ยุคข้อมูลข่าวสาร ซึ่งการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร จำเป็นต้องมีความชัดเจน แม่นยำ ตลอดจนการสื่อสารในเรื่องการดำเนินโครงการต่างๆที่ส่อไปในทางทุจริต หรือแม้แต่การแจ้งเบาะแสการทุจริตคอร์รัปชันในพื้นที่ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ชาวบ้านในพื้นที่รับรู้ในเรื่องปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน แต่ไม่สามารถที่จะสื่อสารตรงๆ ได้ เนื่องจากการกลัวภัยที่จะมาถึงตัว ดังนั้น คำถามที่สำคัญคือจะมีวิธีการสื่อสาร/ช่องทางการสื่อสารแบบไหนวิธีใดที่จะช่วยป้องกันให้กับผู้แจ้งเบาะแสได้ นอกจากนั้นยังรวมถึงการสื่อสารความรู้การป้องกันเฝ้าระวังการทุจริตคอร์รัปชันให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น และจะมีแรงจูงใจอะไรที่จะช่วยให้ชาวบ้านได้แจ้งเบาะแสการทุจริตคอร์รัปชันในพื้นที่

4.กลไกการหนุนเสริม ทั้งในด้านความรู้ทางวิชาการ และกระบวนการทางความคิด กระบวนการทำงานร่วมกัน รวมถึงการมีเพื่อนร่วมทางที่ดี ทั้งในระดับชุมชน ตำบล อำเภอ ป.ป.ช.สตง. และจังหวัด เพื่อสร้าง “ทีมที่มีคุณภาพ มีใจร่วมและพร้อมที่จะเรียนรู้ไปด้วยกัน”

ทั้งนี้เพื่อเป้าหมายที่สำคัญ คือ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการตื่นตัว การเรียนรู้ ตระหนักรู้ สร้างกลไกการเสริมสร้างธรรมาภิบาลท้องถิ่นและการเฝ้าระวังการทุจริตคอร์รัปชัน รวมถึงการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมและความเข้มแข็งให้เกิดขึ้นในชุมชน โดยการให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน ผลกระทบ ผลเสีย ที่นำไปสู่การสืบค้นข้อมูล การจัดเวทีแลกเปลี่ยนข้อมูล ทั้งในส่วนของสถานการณ์ปัญหา รูปแบบการคอร์รัปชัน ผลกระทบ การสรุปผลการเก็บข้อมูล และนำไปสู่การแลกเปลี่ยนพูดคุยในวงใหญ่ ทั้งในระดับชุมชนและระดับที่เหนือขึ้นไป เพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกัน โดยใช้เครื่องมือในการสร้างการมีส่วนร่วมในด้านการตรวจสอบที่เหมาะสมกับบริบทพื้นที่ เป็นเครื่องมือเชิงบวก เป็นสิ่งที่ชาวบ้านอยากทำ ท้องถิ่นอยากแก้ ไม่ปฏิเสธและทีมวิจัยทำได้ รวมถึงเหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายสอดคล้องสภาพภูมิสังคมในพื้นที่อำเภอบ่อเกลือ และสอดคล้องกับสถานการณ์ปัญหา และเกิดความร่วมมือกันของหน่วยงานภาครัฐ เช่น ป.ป.ช.น่าน ป.ป.ท.น่าน สตง.น่าน ภาคเอกชน หน่วยงาน องค์กรภาคชุมชน ร่วมมือกันปรึกษาหารือกัน เพื่อพัฒนาระบบและกลไกในการเสริมสร้างธรรมาภิบาลท้องถิ่นและกลไกในการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันในพื้นที่ โดยเฉพาะธรรมาภิบาลด้านความโปร่งใสเปิดเผยข้อมูล การมีส่วนร่วมและนิติธรรม รวมถึงสร้างวัฒนธรรมต้านการทุจริตคอร์รัปชัน สร้างการตื่นตัวให้กับคนในชุมชนและการก้าวข้ามความกลัวของคนในชุมชน โดยใช้กระบวนการงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น ที่เน้นการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม โจทย์วิจัยเป็นของชุมชน และมีการทดลองปฏิบัติการร่วมกันของคนในชุน ทั้งนี้เพื่อให้คนเล็กคนน้อยในระดับพื้นที่ เกิดการเรียนรู้และปรับเปลี่ยนทัศนคติ และค้นหาและสร้างต้นแบบนวัตกรรมทางสังคมในระดับต่างๆ ทั้งระดับกลุ่ม องค์กรและพื้นที่ เพื่อแก้ปัญหาคอร์รัปชันอย่างมีส่วนร่วมและสมัครใจ รวมถึงให้ข้อเสนอแนะต่อการปรับปรุงระบบกลไกบริหารงานของหน่วยเป้าหมาย เพื่อลดช่องทางคอร์รัปชัน โดยการประยุกต์ใช้เครื่องมือทางสังคม เศรษฐศาสตร์ และกฎหมาย ตลอดจนให้ข้อเสนอแนะเพื่อเสริมสร้างประสิทธิผลของหน่วยงานกำกับดูแลและป้องกันปราบปรามคอร์รัปชัน รวมถึงสร้างพื้นที่การเรียนรู้ร่วมกันในการตระหนักรู้ด้วยข้อมูล และใช้ข้อมูล ข้อค้นพบจากกระบวนการงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนทางนโยบายและสังคมอีกทางหนึ่งด้วย

ดังนั้น โจทย์ร่วมที่สำคัญของการขับเคลื่อนงานวิจัย กลไกการเสริมสร้างธรรมาภิบาลท้องถิ่นและกลไกเฝ้าระวังการทุจริตคอร์รัปชัน
โดยชุมชนมีส่วนร่วม กรณีศึกษา : อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่านคือการเสริมสร้างพลังของคนในชุมชน ให้ลุกขึ้นมาขับเคลื่อนกระบวนการทำงานร่วมกัน โดยมีหน่วยงานภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมาหนุนเสริมเติมเต็มศักยภาพของทีมวิจัยชาวบ้าน ถือเป็นการรวมพลังของดอกไม้หลากสีบนแจกันเดียวกัน ผ่านการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริงของคนในพื้นที่ และสามารถนำผลการศึกษาวิจัยไปแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในระดับพื้นที่ได้ และจะเป็นการพิสูจน์ให้เห็นว่า “ชาวบ้านทำวิจัยได้” และ “ใครๆก็ทำวิจัยได้”

อภิสิทธิ์ ลัมยศ

ศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น จ.น่าน

(พอเพียง เคียงธรรม นำวิถีน่าน)