prothesis2000

การหาหัวข้อวิทยานิพนธ์กฎหมาย ปริญญาโท นิติศาสตร์

การหาหัวข้อวิทยานิพนธ์กฎหมาย ปริญญาโท นิติศาสตร์
สิ่งหนึ่งที่คนเรียนกฎหมายในระดับปริญญาโทจะต้องเจอก็คือ “วิทยานิพนธ์” ที่เรียกติดปากกันว่า ทีสิส (thesis/dissertation) ซึ่งเจ้าวิทยานิพนธ์นี่เป็นเงื่อนไขสำคัญในการจบ ป.โท นิติศาสตร์ จะจบไม่จบก็ขึ้นอยู่กับว่าจะเขียนวิทยานิพนธ์เสร็จและสอบป้องกันผ่านหรือไม่ ทว่า งานยากแรก ๆ ของการทำวิทยานิพนธ์ก็คือ จะไปหาหัวข้อวิทยานิพนธ์จากไหนกันล่ะ

ถ้าเราเข้าใจจุดตัดที่แตกต่างระหว่างการเรียนกฎหมายปริญญาตรีกับปริญญาโทได้ เราจะเริ่มพอเข้าใจว่าควรจะงมหาหัวข้อวิทยานิพนธ์จากไหน ในชั้นปริญญาตรี ความต้องการสำคัญก็คือ นิสิตนักศึกษาที่มาเรียนคณะนิติศาสตร์ต้องรู้และเข้าใจตัวบทกฎหมาย วิธีคิดทางกฎหมาย รวมไปถึงสามารถนำกฎหมายมาปรับใช้กับข้อเท็จจริงได้ แต่ในระดับปริญญาโท มันเป็นเรื่องของการทำวิจัยศึกษาค้นคว้าเชิงลึกลงไปว่า ทำไมกฎหมายถึงเป็นแบบนี้ (ทำไมกฎหมายไม่เป็นแบบนั้นแทน) เรื่องนี้มีทฤษฎีสำคัญเบื้องหลังอะไร และเราสามารถชี้ไปถึงปัญหา ศึกษา ค้นคว้า หาข้อสรุป หรือให้ข้อเสนอแนะอะไรกับวงการนิติศาสตร์ได้ไหม

๑. การหาหัวข้อจากการพิจารณากฎหมายหลายมุมมอง
การได้มาของหัวข้อวิทยานิพนธ์ด้วยการขบคิดปัญหากฎหมายหลายมุมมอง ตัวผมเองเรียกว่า การคิดสองชั้น คือ รู้ตัวบทนั้น แต่ตั้งข้อสงสัยขบคิดว่าตัวบทนี้มันดีหรือยัง มันมีปัญหากฎหมาย หรือปัญหาการปรับใช้ในข้อเท็จจริงบ้างไหม การได้มาในแนวนี้มักจะเกิดจากการอ่านตำรากฎหมายหรือบทความกฎหมาย เพราะบางเล่มนั้น อาจารย์ผู้เขียนก็หย่อนประเด็นทิ้งไว้ ว่าในวงการนิติศาสตร์ยังไม่ได้ข้อสรุป หรือประเด็นตรงนี้น่าสนใจ หรืออาจจะมาจากการเรียนในห้องที่อาจารย์ผู้สอนกล่าวถึงประเด็นปัญหา ถ้ายังไม่มีใครทำ เราก็นำไปต่อยอดได้

ลองยกตัวอย่างให้เห็นภาพดีกว่า เรื่องการบรรลุนิติภาวะเมื่อสมรสแล้วของผู้เยาว์ ถ้าเป็นชั้นปริญญาตรี เราแค่รู้และปรับใช้กับข้อเท็จจริงได้ว่าในเรื่องการสมรสนั้น ผู้เยาว์ (คนที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี) ก็สามารถสมรสได้ ถ้าการสมรสนั้นได้ทำตามกฎหมาย (มาตรา 1448) คือ เมื่อชายและหญิงมีอายุ 17 ปีบริบูรณ์แล้ว หรือมีเหตุอันสมควรที่ศาลอนุญาตให้สมรสก่อนอายุ 17 ปี และผู้เยาว์ก็จะบรรลุนิติภาวะทันทีเมื่อทำการสมรส (มาตรา 20)

ความคิดชั้นแรกก็คือ การที่กฎหมายกำหนดให้ผู้เยาว์บรรลุนิติภาวะ ก็เพราะเหตุที่ว่าถ้าผู้เยาว์สมรสแล้ว ผู้เยาว์จะต้องหาเลี้ยงครอบครัว รวมไปถึงหากมีลูกก็จะต้องเลี้ยงดูลูก การคงไว้ซึ่งสถานะผู้เยาว์ จะทำให้ผู้เยาว์ใช้ชีวิตครอบครัวลำบากมาก เพราะต้องกลับไปขอความยินยอมจากพ่อแม่ซึ่งเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมก่อนจะไปทำอะไร จะไปซื้อนมลูกก็ต้องกลับไปหาปู่ย่าตายายของหลาน แบบนี้ก็คงไม่โอเค

หากแต่ถ้าเราเริ่มสงสัยคิดไปอีกนิด แล้วสมมติผู้เยาว์หย่ากันในเดือนหรือปีถัดมา ผู้เยาว์ไม่มีลูกระหว่างสมรสด้วย คำถามคือ สถานะความเป็นผู้เยาว์จะกลับมาหาผู้เยาว์ไหม? หรือผู้เยาว์สมรสไปแล้ว บรรลุนิติภาวะไปแล้ว ก็บรรลุไปเลย วันวานมันคืนย้อนมาไม่ได้ ในหัวเราอาจจะมีข้อโต้แย้งว่า ที่กฎหมายในภาพรวมบอกคนเราจะบรรลุนิติภาวะเมื่ออายุ 20 ปี แสดงว่าต่ำกว่า 20 ปี ในสายตากฎหมายก็ควรจะต้องได้รับการปกป้องในฐานะที่เป็นผู้เยาว์ใช่ไหม กรณีนี้ผู้เยาว์กลับมาโสดอีกครั้ง และอายุก็ยังไม่เกิน 20 ปี ทำไมผู้เยาว์ไม่ควรได้สถานะผู้เยาว์กลับคืนมาล่ะ

นี่ล่ะครับ ประเด็นนี้น่าจะพัฒนาไปเป็นวิทยานิพนธ์ได้ เพราะเราสามารถวางโครงร่างวิทยานิพนธ์ได้ล่ะ เริ่มจากประเด็นปัญหาว่า ผู้เยาว์ที่สมรสแล้ว ผลทางกฎหมายปัจจุบันคือผู้เยาว์จะบรรลุนิติภาวะ แต่หากผู้เยาว์หย่าโดยที่ยังอายุไม่ถึง 20 ปีบริบูรณ์ สถานะผู้เยาว์จะกลับมาหรือไม่ สิ่งที่เราจะต้องทำต่อคือ เราจะศึกษาด้วยวิธีไหน

เอาโดยทั่วไป วิทยานิพนธ์กฎหมายจำนวนมากในไทยมักจะใช้วิธีเปรียบเทียบกฎหมาย (comparative method) เราอาจเลือกประเทศที่ใช้เปรียบเทียบกฎหมาย เช่น กฎหมายฝรั่งเศส กฎหมายอังกฤษ กฎหมายเยอรมัน กฎหมายญี่ปุ่น ฯลฯ เพื่อดูว่าปัญหานี้ในต่างประเทศเขามีประสบการณ์อย่างไร แล้วกลับมาศึกษากฎหมายไทยว่า ในไทยมีใครพูดหรือเขียนอะไรเกี่ยวกับปัญหานี้บ้าง

เราจะต้องศึกษาทบทวนพัฒนาการทางความคิดของเรื่องกฎหมายเกี่ยวกับการสมรสของผู้เยาว์ไปเรื่อย ๆ ทั้งไทยและต่างประเทศ (literature review) โดยอาจเริ่มจากศึกษาย้อนไปสมัยโรมันก่อนก็ได้ แล้วมาศึกษาความคิดทฤษฎีทางกฎหมายในปัจจุบัน โครงของวิทยานิพนธ์ในลักษณะนี้อาจแบ่งเป็น 6 บท เช่น บทนำ บททฤษฎีทั่วไปที่เกี่ยวข้อง บทกฎหมายต่างประเทศ บทกฎหมายไทย บทวิเคราะห์ บทสรุปและเสนอแนะ

นอกจากนี้ การศึกษาโดยใช้วิธีเปรียบเทียบกฎหมายก็ควรจะศึกษาทั้งความเหมือน ความแตกต่าง ข้อดี ข้อเสีย ที่มา เหตุผลของความแตกต่าง ผลลัพธ์ที่เกิดจากการแตกต่าง ความเป็นไปได้ (รวมทั้งความเป็นไปไม่ได้) ในการนำมาปรับใช้ในกฎหมายไทย ฯลฯ

พอเขียนโครงเสร็จแล้ว เราก็ลองค้นคว้าดูสักพักแล้วไปหาที่ปรึกษาซึ่งเป็นอาจารย์ที่คิดว่าเขาสนใจในประเด็นนี้ มีความรู้ดีในเรื่องนี้ ยอมรับเป็นที่ปรึกษาของเรา

ส่วนวิธีการได้มาของหัวข้อวิทยานิพนธ์อื่น ๆ ยังมีอีกมากมายครับ เช่น

๒. การติดตามข่าวสารในชีวิตประจำวัน
บางทีประเด็นกฎหมายที่นำมาเป็นหัวข้อวิทยานิพนธ์ก็มาจากการอ่านและขบคิดประเด็นข่าว เพราะกฎหมายมักจะไล่ตามโลกไม่ทัน หากเราติดตามข่าวสารบ่อย ๆ มักจะพบว่า ในยุคปัจจุบัน มันจะมีข้อเท็จจริงใหม่ที่กฎหมายเก่าอาจปรับใช้ไม่ถึง หรือจริง ๆ ก็อาจปรับใช้ได้ แต่จะปรับใช้ในแนวทางไหน พวกนี้ก็เอามาทำวิทยานิพนธ์ได้ เช่น ประเด็นเรื่องลิงหยิบกล้องมาถ่าย selfie แล้วมีการต่อสู้กันว่า ใครจะได้ลิขสิทธิ์ของรูประหว่างลิงกับคนที่เป็นเจ้าของกล้อง

หรืออีกตัวอย่างหนึ่ง ผมเคยช่วยพี่ในรุ่นคิดหัวข้อหนึ่งได้เพราะข่าวเรื่องภาพยนตร์ที่นำคนที่เสียชีวิตไปแล้วมาทำการตัดต่อกราฟฟิกหรือทำ CG จนนักแสดงที่เสียชีวิตไปแล้ว มาโลดแล่นในภาพยนตร์อีกครั้งเสมือนยังมีชีวิตอยู่ มันก็เลยน่าสนใจอยู่ว่า ใครได้ประโยชน์จากการปลุกคนตายมาใช้ สิทธิของคนที่ตายไปแล้วในเรื่องนี้ควรจะคุ้มครองอย่างไร เขาจะปลุกมาเล่นหนังแบบไหนก็ได้หรือเปล่า คนตายลุกขึ้นมาโต้แย้งไม่ได้ ซึ่งล่าสุดหลังจากที่พี่คนนี้เขาสนใจและเอาไปทำวิทยานิพนธ์ค้นคว้าต่ออย่างดี พี่เขาก็ได้จบปริญญาโทด้วยวิทยานิพนธ์ในหัวข้อนี้ไปแล้วครับ

ทั้งนี้ยังมีประเด็นปัญหาใหม่ ๆ ที่น่าสนใจไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเงินสมัยใหม่อย่างสกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) เทคโนโลยีที่ก้าวล้ำอย่างปัญญาประดิษฐ์ (AI) รถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ (Autonomous Vehicles) พวกนี้เอามาจับกับกฎหมายพื้นฐานอย่างกฎหมายสัญญา ละเมิด ทรัพย์สิน ก็น่าจะมีประเด็นพอสมควรครับ

๓. เรื่องในชีวิตประจำวัน
การใช้ชีวิตในแต่ละวันก็อาจนำมาซึ่งหัวข้อวิทยานิพนธ์ไม่รู้ตัว เช่น การที่คุณนั่ง Grab บ่อย ๆ ถ้าลองคิดดี ๆ มันน่าสนใจว่า ความสัมพันธ์ทางกฎหมายระหว่างบริษัท Grab คนขับ Grab และคนโดยสารเป็นไปตามกฎหมายไหนบ้าง แต่หัวข้อแบบนี้ต้องไว เพราะมักจะมีคนนำไปทำวิจัยอย่างรวดเร็ว โดยส่วนตัว ผมว่าการใช้บริการพวกธุรกิจรูปแบบใหม่ ๆ พวกกิจการสตาร์ทอัพ หรือธุรกิจแบบแบ่งปัน (Sharing Economy) แนว ๆ Airbnb Uber อะไรพวกนี้ก็มีประเด็นที่น่าสนใจ

พูดถึงการได้มาเช่นนี้ บางทีหัวข้อมันมาจากอารมณ์ เช่น เพราะเหตุแห่งความโมโห คุณอาจจะโมโห เซ็ง ๆ ที่ต้องจ่ายค่าบริการ (Service Charge) ให้กับร้านอาหาร โดยที่ร้านนั้นบริการไม่ดี คุณก็อาจจะเอามาขบคิดว่า ความเป็นมาของการจ่ายเงินเพื่อบริการแบบนี้มันตั้งอยู่บนฐานอะไรของกฎหมาย แล้วก็ค้นคว้าต่อ

๔. จากสื่อสังคมออนไลน์
การติดตามหน้า Facebook อาจารย์กฎหมาย วิธีนี้มาในโลกสมัยใหม่มาก หากคุณมีเพื่อนเป็นอาจารย์ใน Facebook ของคุณ บางทีก็จะพบว่า อาจารย์แจกหัวข้อวิทยานิพนธ์กันโต้ง ๆ ไปเลย ตาดีได้ตาร้ายเสีย เก่งไม่กลัว กลัวช้า ข้อดีของการได้หัวข้อวิธีนี้ คือ ส่วนมากอาจารย์คนนั้นมีโอกาสที่จะยินดีรับเราเป็นที่ปรึกษาด้วย เพราะหัวข้อมันน่าสนใจในสายตาของอาจารย์ และจริง ๆ ถ้าอาจารย์ได้โพสแล้ว แสดงว่าอาจารย์คนนั้นน่าจะมีอารมณ์ร่วมในหัวข้อนั้นอยู่ (ฮ่า ๆ)

๕. หัวข้อที่ตกทอดมาจากบัณฑิตรุ่นก่อนหน้า
เราอาจหาหัวข้อวิทยานิพนธ์จากการคุยกับคนที่จบไปแล้วที่พึ่งทำวิทยานิพนธ์เสร็จ อันนี้ก็น่าสนใจ จากการคุยกับหลาย ๆ คน เมื่อเราได้ทำวิทยานิพนธ์จนใกล้เสร็จ เราจะเริ่มเห็นว่า มันมีประเด็นกฎหมายอะไรอีกมากที่เกี่ยวพันกันกับหัวข้อที่ทำ แต่เนื่องด้วยขอบเขตมันไม่เกี่ยวข้อง หรือมันไกลเกินไป หรือมันไม่ใช่ประเด็นหลักก็เลยไม่ต้องเขียน แต่ทำแล้วมันเห็นแน่ ๆ ว่ามีปัญหา ถ้าไปถาม เราอาจจะได้ประเด็นหัวข้อพวกนี้กลับมาทำวิทยานิพนธ์ต่อ

เพื่อนผมคนหนึ่งได้หัวข้อวิทยานิพนธ์จากรุ่นก่อนเรื่องวิธีพิจารณาความแพ่งแบบแบ่งกลุ่ม (Class Action) เพราะคนก่อนพบว่ามีหัวข้อย่อยภายใต้หัวข้อที่เธอเขียน แต่มันใหญ่มาก ๆ จนต้องตัดทิ้ง จึงมาเสนอให้ป.โทรุ่นถัดมา ว่ามีใครสนใจทำต่อบ้าง ซึ่งหัวข้อนี้ก็ได้ถูกค้นคว้าจนสำเร็จไปแล้วเช่นกัน

สิ่งหนึ่งที่พบได้บ่อย ๆ คือบางทีคนเขียนวิทยานิพนธ์อาจจะเขียนเก็บไว้ในบทสุดท้ายของวิทยานิพนธ์ส่วนของข้อเสนอแนะว่า มันยังมีประเด็น ๆ นี้ที่น่าสนใจนะ ลองไปเปิดดูเล่น ๆ ก็อาจจะเจอครับ

สุดท้ายนี้ ผมขอเสนอแนะเรื่องหัวข้อวิทยานิพนธ์อีกอันก็คือ (ถ้าเป็นไปได้) การทำวิทยานิพนธ์นั้น ถ้าเราชอบอะไร อยากรู้อยากหาคำตอบในเรื่องที่เรากะตือรือร้นหรือสนใจได้ ระหว่างทำเราก็จะมีแรงฮึดที่จะทำมันได้เรื่อย ๆ (บางครั้งถึงขั้นสนุกดี) ถ้าหาหัวข้อที่เราชอบและสนุกกับมัน การทำวิทยานิพนธ์จะโล่งขึ้นอีกเยอะ

อีกอย่างก็คือ ถ้าได้หัวข้อแล้ว รีบเช็คก่อนเลยว่าคนทำหรือยัง คือบางหัวข้อมันเป็นวิทยานิพนธ์ได้ และแน่นอนว่า เพราะมันเป็นวิทยานิพนธ์ได้ มันก็เลยเป็นไปแล้ว มีคนทำไปแล้ว (ฮ่า) หลังจากเห็นว่าไม่ซ้ำ ให้รีบหาที่ปรึกษา รีบเขียนโครง รีบทำแต่เนิ่น ๆ จะดีมาก สตาร์ทไวจะได้ไม่ต้องเจอการบีบคั้นเรื่องเวลาที่แสนจะเครียดครับ