การสอบเค้าโครงวิทยานิพนธ์

Screenshot 2563-04-10 at 12.47.45.png

 การสอบเค้าโครงวิทยานิพนธ์(Defense Thesis) เป็นกิจกรรมที่ดำเนินการหลังจากที่นิสิต นักศึกษาได้เขียนเค้าโครงวิทยานิพนธ์เสนออาจารย์ควบคุมวิทยานิพนธ์หรืออาจารย์ที่ปรึกษาปรับปรุงแก้ไขตามข้อชี้แนะของอาจารย์ควบคุมวิทยานิพนธ์จนเป็นที่พอใจจึงดำเนินการขอสอบเค้าโครงวิทยานิพนธ์ (Defense Thesis)ต่อไป เพื่อให้การสอบเค้าโครงวิทยานิพนธ์(Defense Thesis)สัมฤทธิ์ผลอย่างดี  ควรทำสรุปสาระสำคัญของเค้าโครงวิทยานิพนธ์และปฏิบัติตามข้อเสนอแนะในการสอบเค้าโครงวิทยานิพนธ์(Defense Thesis)

 ข้อปฏิบัติในการสอบเค้าโครงวิทยานิพนธ์(Defense Thesis)
 1.  ก่อนสอบ นิสติ นักศึกษาตั้งสติให้ดี ถ้านิสิต  นักศึกษาทำงานด้วยความซื่อสัตย์และเอาใจใส่มาตลอด ก็ไม่มีอะไรน่าหนักใจ แต่ไม่ได้หมายความว่าเค้าโครงวิทยานิพนธ์ที่ส่งในครั้งนี้เป็นเล่มเค้าโครงวิทยานิพนธ์ที่สมบูรณ์   นิสิต นักศึกษาต้องเตรียมใจในการแก้ไขงานอีกครั้งหนึ่ง โดยยึดคำวิพากษ์และข้อเสนอแนะของคณะกรรมการสอบสอบเค้าโครงวิทยานิพนธ์(Defense Thesis) เป็นหลัก นิสิต นักศึกษา ไม่ควรตื่นเต้นมากเกินไป ควรพักผ่อนให้เพียงพออย่าเครียด อาจทำอะไรเป็นการผ่อนคลายบ้าง และเข้านอนหัวค่ำ เพื่อตื่นแต่เช้าในวันรุ่งขึ้นและเดินทางสู่ห้องสอบด้วยความแจ่มใส
 2.  ในการสอบปกป้องเค้าโครงวิทยานิพนธ์(Defense Thesis) นิสิต นักศึกษาควรมาถึงห้องสอบล่วงหน้าอย่างน้อย 30 นาที และตรวจดูความเรียบร้อย  เช่น เครื่องดื่มหรืออาหารว่างมีหรือไม่ ดูสภาพห้องสอบว่าที่นั่งของตนและที่นั่งของคณะกรรมการอยู่ตรงไหน  นิสิต  นักศึกษาควรใช้เวลาช่วงนี้ติดตั้งอุปกรณ์ประกอบการนำเสนอข้อมูล อาจเป็นคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก หรือการเตรียมเปิดไฟล์หรือสไลด์ในการนำเสนอ
  3.  ก่อนขึ้นสอบปกป้องเค้าโครงวิทยานิพนธ์  นิสิต  นักศึกษาควรทำสรุปสาระสำคัญ    ลงในกระดาษแผ่นเดียว   ให้ครอบคลุมสาระสำคัญของการวิจัยทั้งหมด อาจใช้แผนผังความคิด  (Mind Mapping) หรือผังมโนทัศน์ (Concept Map) ในการสรุปสาระสำคัญของการวิจัยหรืออาจใช้คำย่อ สัญลักษณ์ และตารางช่วยให้สรุปอย่างเป็นระบบตามความจำเป็นได้ ส่วนนี้จะเป็นประโยชน์ช่วยให้เข้าใจเรื่องที่วิจัยอย่างชัดเจน สามารถนำไปดูแล้วอธิบายการวิจัยได้อย่างกระชับและครบถ้วนโดยไม่ต้องเปิดอ่านในเล่มเค้าโครงวิทยานิพนธ์ 
  4.  ในการสอบปกป้องเค้าโครงวิทยานิพนธ์  นิสิต  นักศึกษาควรมีการตรวจสอบหัวข้อทุกข้ออย่างละเอียด  ชัดเจน  รอบคอบ  รัดกุมในทุกส่วน (โดยทั่วไปมักประกอบไปด้วย  ภูมิหลัง  ความเป็นมาของการวิจัย  ความมุ่งหมาย  สมมติฐาน  (ถ้ามี)  ขอบเขต  นิยามศัพท์เฉพาะ  แนวคิด  ทฤษฎี  และผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง  วิธีดำเนินการวิจัย  ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง  เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล  สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล )  ซึ่งจะเป็นประโยชน์มาก  เพราะเค้าโครงดังกล่าวเป็นเงื่อนไขที่จะต้องปฏิบัติตาม  เป็นการป้องกันปัญหาต่าง ๆ  ที่จะตามมา 
  5.  นิสิต  นักศึกษา ส่วนใหญ่ เตรียมตัวมายังไม่ดีพอ  เค้าโครงวิทยานิพนธ์มีความบกพร่องหลายแห่ง  การนำเสนอไม่น่าสนใจ  บางคนเสนอโดยการอ่านจากเอกสารที่เตรียมมาก  การตอบคำถามบางครั้งไม่ตรงประเด็นหรือตอบไม่ได้  โดยเฉพาะในคำตอบที่เป็นการประเมินความรู้  ความเข้าใจในวิธีการ  หลักการ  ทั้งนี้เนื่องจากขาดความรอบรู้อย่างแท้จริง  เตรียมตัวมาน้อย  ดังนั้นเพื่อตัดข้อบกพร่องดังกล่าว นิสิต  นักศึกษาจะต้องเตรียมพร้อมในการสอบปกป้องเค้าโครงวิทยานิพนธ์(Defense Thesis)  โดยเตรียมการนำเสนอให้กระชับ  รัดกุม  เข้าใจง่าย  น่าสนใจ  ด้วยความคล่องแคล่วถูกต้องแม่นยำ  รวมทั้งเตรียมตอบคำถามต่าง ๆ  ที่แสดงถึงการมีความรอบรู้ในเรื่องที่ทำวิทยานิพนธ์  เช่น เตรียมตัวก่อนสอบ  10 วัน เป็นต้น และควรซักซ้อมด้วยตนเองให้คล่องโดยเฉพาะถ้าได้ซักซ้อมกับอาจารย์ผู้ควบคุมวิทยานิพนธ์ในส่วนสำคัญจะช่วยได้มาก
  6.  ด้านกรรมการสอบปกป้องเค้าโครงวิทยานิพนธ์  โดยทั่วไปประกอบด้วยอาจารย์ควบคุมหรืออาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์และกรรมการจากภายนอก  กรรมการจากภายนอกอาจมีจำนวนเท่ากันกับอาจารย์ที่ปรึกษาหรือมากกว่า    
 7.  พิธีการสอบก็จะเริ่มโดยที่ท่านประธานจะให้ นิสิต  นักศึกษานำเสนองานวิจัย ขอให้ นิสิต  นักศึกษาคิดว่า การสอบปกป้องเค้าโครงวิทยานิพนธ์เป็นเหมือนการนำเสนอบทความทางวิชาการในที่ประชุมครั้งใหญ่ ถ้าเป็นไปได้  ไม่ควรอ่านจากใช้โน้ตย่อ ควรนำเสนอจากความเข้าใจ ซึ่งไม่น่าจะยาก เนื่องจากเป็นงานของ  นิสิต  นักศึกษาเอง

ขั้นตอนทั่วไปการสอบปกป้องเค้าโครงวิทยานิพนธ์  

แบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอน  ดังนี้
ขั้นตอนที่หนึ่ง  เมื่อคณะกรรมการสอบเค้าโครงวิทยานิพนธ์มาครบ ท่านประธานคุมสอบเค้าโครงวิทยานิพนธ์ก็จะให้  นิสิต  นักศึกษารายงานเค้าโครงวิทยานิพนธ์  อาจให้กล่าวเฉพาะประเด็นที่สำคัญ  เช่น  เหตุผลที่เลือกทำการศึกษาค้นคว้าในเรื่องนั้น  ความมุ่งหมายของการวิจัย วิธีดำเนินการวิจัย (ประชากร กลุ่มตัวอย่าง เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย  สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล) ในขั้นตอนนี้นิสิตนักศึกษาอาจนำเสนอโดยใช้สื่อต่าง ๆ  เช่น  แผ่นใส  Power Point   เป็นต้น  การใช้สื่อต่าง ๆ  จะช่วยให้รายงานได้ดี   มีความน่าสนใจ   ในการเตรียมสื่อผู้วิจัยได้มีโอกาสคิดวิธีนำเสนอ  ได้สรุปเนื้อหาสาระที่สำคัญเพื่อนำเสนอ  ช่วยในการจดจำสาระดังกล่าว  และต้องเตรียมแผนสำรองกรณีที่มีปัญหาที่อาจเกิดขึ้นโดยที่ไม่สามารถควบคุมได้  เช่น  ไฟฟ้าดับ  เป็นต้น  ข้อสำคัญคือต้องทำการซักซ้อมติดตั้งอุปกรณ์ต่าง ๆ  ตรวจสอบการใช้งานจนมั่นใจก่อนถึงเวลาสอบ
ขั้นตอนที่สอง  หลังนิสิต นักศึกษารายงานเค้าโครงวิทยานิพนธ์  กรรมการสอบจะซักถามข้อสงสัย  สอบถามเพื่อตรวจสอบความรู้ความเข้าใจของผู้ทำวิทยานิพนธ์  แม้กระทั่งการทักท้วงโต้แย้งในประเด็นต่าง ๆ  ที่อาจเป็นข้อผิดพลาดของรายงานการวิจัยเพื่อให้มีการแก้ไขให้ถูกต้อง  ซึ่งนิสิต  นักศึกษาต้องแสดงให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ ว่าตนมีความพร้อมที่จะทำเรื่องนี้  ตอบโดยแสดงความรู้อย่างชัดถ้อยชัดคำ รวมทั้ง แสดงความคิดเห็นด้วยความมั่นใจ อย่างไรก็ตาม นิสิต  นักศึกษาต้องอ่อนน้อม อ่อนโยน และเคารพกรรมการสอบปกป้อง ถ้าไม่ เข้าใจหรือได้ยินคำถามถูกต้องหรือไม่ สามารถขอให้อาจารย์สอบถามอีกครั้งได้
  คำถามในการสอบปกป้องเค้าโครงวิทยานิพนธ์ที่น่าสนใจ  กรรมการมักจะถามนิสิต  นักศึกษา  ที่ทำวิทยานิพนธ์  มีดังนี้
   –   ทำไมนิสิต ถึงทำเรื่องนี้ ได้ประโยชน์ในด้านใดบ้างหรือได้ประโยชน์หรือไม่ อย่างไร
   – ประชากรและกลุ่มตัวอย่างเป็นใคร ที่ไหน อย่างไร วิธีการสุ่มกลุ่มตัวอย่าง ได้มาอย่างไร ทำไมถึงเลือกวิธีการนี้
   – เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย
   – สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล มีความเหมาะสมหรือไม่ อย่างไร
   – ตัวแปรที่ใช้ในการวิจัย มีอะไรบ้าง
   – เรื่องที่ทำ คิดว่าจะดำเนินการเสร็จหรือไม่ อย่างไร
ขั้นตอนที่สาม  กรรมการสอบพิจารณาประเมินผลการสอบปกป้องเค้าโครงวิทยานิพนธ์หลังจากการตอบคำถามเสร็จสิ้นแล้ว ประธานกรรมการจะพิจารณาการสอบเค้าโครงวิทยานิพนธ์ที่เพิ่งสอบเสร็จไป ปกติแล้วในระดับปริญญาโทหรือเอก อาจารย์จะให้ นิสิต นักศึกษาสอบผ่าน  อาจต้องมีการแก้ไขงานบ้างจะมากหรือน้อยแตกต่างกันไป หลังจากทราบผลการสอบแล้ว ควรกล่าวขอบคุณกรรมการคุมสอบ และควรเข้าพบอาจารย์ที่ปรึกษาทันที เพื่อปรึกษาเรื่องการแก้ไขเค้าโครงวิทยานิพนธ์และดำเนินขั้นตอนต่อไป  ส่วนกรณีสอบไม่ผ่าน คือ นิสิต นักศึกษาไม่รู้เรื่องจริง ๆ ตอบคำถามไม่ได้  คณะกรรมการก็จะเห็นควรให้นิสิต นักศึกษาสอบใหม่อีกครั้ง  ส่วนมากมีน้อยมากหรือไม่มีเลยก็ว่าได้