prothesis2000

การกำหนดหัวข้อการวิจัยชั้นเรียน

การกำหนดหัวข้อการวิจัยชั้นเรียน
แนวคิด หลักการหรือทฤษฎี
ปัญหาที่นำมาเป็นหัวข้อการวิจัยควรอยู่ในความสนใจของผู้วิจัย เหมาะสมกับงานและความสามารถในการทำเครื่องมือ การเก็บข้อมูล กำลังเงิน ระยะเวลาและผลที่จะได้รับ การตั้งชื่อหัวข้อวิจัยควรกะทัดรัด ให้มองเห็นลักษณะ ของตัวแปรที่จะศึกษาอย่างชัดเจน จะต้องครอบคลุมลักษณะของสิ่งที่จะศึกษาเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหา การเรียนการสอนในชั้นเรียนได้
หัวข้อการวิจัยถ้าอยู่ในกรอบของความมุ่งหมายของการศึกษา ค้นคว้า ขอบเขตของการวิจัย และคำจำกัดความของปัญหา จะทำให้หัวข้อของการวิจัยมีความเหมาะสม ตลอดจนสามารถตอบคำถามหลัก และคำถามรองที่เราต้องการทราบได้เป็นอย่างดี
ชื่อเรื่องการวิจัยต้องตรงกับปัญหาการวิจัย มีความชัดเจนทางด้านภาษา ผู้อ่านสามารถเข้าใจได้ทันทีว่าจะทำอะไร โดยไม่ต้องตีความอีก ชื่อเรื่องที่ดีควรระบุว่าจะทำอะไร (ตัวแปร) กับใคร (กลุ่มตัวอย่าง) ที่ไหน (สถานที่) อย่างไร (วิธีดำเนินการ) เมื่อไร (เวลา) แต่ชื่อเรื่องการวิจัยต้องไม่ยาวเกินไป ชื่อเรื่องควรขึ้นต้นด้วยคำนาม และชื่อเรื่องควรระบุประเภทการวิจัยหรือจุดมุ่งหมายการวิจัย
การตั้งชื่อเรื่องในการวิจัยควรประกอบด้วยสิ่งต่อไปนี้
1. ตัวแปรที่จะศึกษา หรือตัวแปรตามที่สนใจในการวิจัย เช่น ความพึงพอใจ บทบาท ปัญหา การรับรู้ เป็นต้น
2. ประชากรหรือกลุ่มตัวอย่างที่จะศึกษา เช่น นักศึกษาสถาบันราชภัฏลำปาง สมาชิกสภาเทศบาล กรรมการกองทุนหมู่บ้าน นักเรียน
3. วิธีในการวิจัย เช่น การสำรวจ การเปรียบเทียบ การหาความสัมพันธ์ การศึกษา เป็นต้น
4. สถานที่ศึกษา เช่น สถาบันราชภัฏอุดรธานี เทศบาลนครอุดรธานี บานโคกตะเคียน โรงเรียน………….. เป็นต้น
ในการกำหนดชื่อเรื่องโครงการวิจัยไม่จำเป็นต้องมีครบทั้ง 4 ประเด็น อาจจะขาดรายการใดรายการหนึ่งก็ได้ แต่รายการที่ขาดไม่ได้ คือ การระบุตัวแปร

        การเขียนชื่อโครงการควรมีลักษณะ ดังนี้
                    1. การตั้งชื่อเรื่องไม่จำเป็นต้องเขียนเป็นประโยคที่สมบูรณ์ อาจเป็นวลี หรือข้อความก็ได้
                    2. ชื่อควรกะทัดรัด ไม่ยาวหรือสั้นเกินไป
                    3. ควรมีความเฉพาะเจาะจงในสิ่งที่ศึกษา ไม่กว้าง ไม่แคบเกินไป
                    4. ควรเร้าความสนใจของผู้อื่น

ตัวอย่างชื่อโครงการวิจัยในชั้นเรียน
สภาพปัญหา : ครูใช้วิธีสอนแบบยึดครูเป็นศูนย์กลางโดยวิธีบรรยาย และอธิบายเป็นส่วนใหญ่
ชื่อโครงการวิจัย : การศึกษาเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ และทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่เรียนโดยใช้ชุดการสอนชุดมินิคร์อสกับเรียนโดยการสอนตามคู่มือครูของ สสวท.
สภาพปัญหา : นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นโรงเรียนบ้านไร่ชายทุ่งมีจำนวนผู้ติดยาเสพติดมากขึ้น
ชื่อโครงการวิจัย : การศึกษาศึกษาทัศนคติต่อการป้องกันสิ่งเสพติดของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นโรงเรียนบ้านไร่ชายทุ่ง
สภาพปัญหา : นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนบ้านคลองใหญ่ อ่านคำที่ใช้อักษร ร ล ว ควบกล้ำผิดมาก
ชื่อโครงการวิจัย : การสร้างแบบฝึกการอ่านคำที่ใช้อักษร ร ล ว ควบกล้ำ สำหรับนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนบ้านคลองใหญ่
สภาพปัญหา
1. ระดับตัวป้อน :ไม่มีแบบฝึกทักษะการอ่านคำควบกล้ำ
2. ระดับกระบวนการ : นักเรียนอ่านคำที่ใช้อักษร ร ล ว ควบกล้ำผิดพลาดเสมอ
3. ระดับผลผลิต : ผลสัมฤทธิ์ทางการอ่านออกเสียงอยู่ในเกณฑ์ต่ำ
4. ระดับผลกระทบ : นักเรียนอ่านคำควบกล้ำภาษาไทยไม่ถูกต้อง